พิษณุโลก แห่ดอกบัวถวายเป็นพุทธบูชา พระพุทธชินราช ครบรอบ 666 ปี
พิธีสำคัญของเมืองพิษณุโลก หน่วยงานราชการ โรงเรียน ภาคเอกชน พร้อมใจ จัดขบวนแห่ดอกบัว พร้อมนางรำ ถวายเป็นพุทธบูชา วาระ พระพุทธชินราชครบรอบ 666 ปี
วาระมงคล ณ บริเวณพระราชวังจันทน์ จังหวัดพิษณุโลก ชาวพิษณุโลกหน่วยงานราชการ ร่วมพิธีเปิดงาน “พิษณุโลก "Faith & Farm 2023”เที่ยวพุทธศิลป์ เยือนถิ่นวัฒนธรรม อร่อยล้ำผลไม้ไทย” เริ่มต้นด้วยการชมการรำ “มังคละเภรีศรีสองแคว จำนวน 866 คน อายุตั้งแต่ 7 ขวบ ถึง 79 ปี รำบนสะพานเหล็กโค้งเแห่งแรกของประเทศไทย “สะพานพระราชวังจันทน์” จากนั้นนายภูสิต สมจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกประธานเปิดงานฯ ซึ่งหม่อมหลวงสราลี กิติยากร ให้เกียรติร่วมงาน
นางศศิวัณย์ ศรีพรหม ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า โครงการ พิษณุโลก "Faith & Farm 2023 เที่ยวพุทธศิลป์ เยือนถิ่นวัฒนธรรม อร่อยล้ำผลไม้ไทย จัดขึ้นเพื่อฉลองในโอกาสครบรอบ 666 ปี พระพุทธชินราช สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของไทย หนึ่งในพระพุทธรูปที่ได้รับการยอมรับว่างดงามที่สุดในโลก ชาวจังหวัดพิษณุโลกหลายพันคน ได้พร้อมใจกันเข้าร่วมงานด้วยความศรัทธา โดยร่วมกันพับดอกบัวจำนวน 16,666 ดอก เพื่อนำไปถวายเป็นพุทธบูชา บรรยากาศเริ่มจากนางรำ จำนวน 866 คน รำมังคละเภรีศรีสองแควบนสะพานพระราชวังจันทน์ เป็นครั้งแรกประวัติศาสตร์จังหวัดพิษณุโลก ที่มีนางรำมากที่สุดกลางสะพานแห่งนี้ ซึ่งมีนางรำอายุน้อยที่สุด เพียง 7 ขวบ และอายุมากที่สุด 79 ปี
มีการเคลื่อนขบวนจากสะพานพระราชวังจันทน์ไปยังวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารวรมหาวิหาร ขบวนแรกประกอบด้วยหม่อมหลวงสราลี กิติยากร นายภูสิต สมจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก
นายวาทิต ปัญญาคม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พล.อ. ดร.ศิริ ทิวะพันธ์ ประธานพัฒนาสี่แยกอินโดจีน นางเปรมฤดี ชมพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก หัวหน้าส่วนราชการ นักศึกษา นางรำ ร่วมเดินขบวนศรัทธาในครั้งนี้ เมื่อถึงวัดฯร่วมถวายดอกบัวและชมการรำมังคละเภรีศรีสองแควหน้าวิหารองค์พระพุทธชินราช
นอกจากนี้ กิจกรรมภายหลังจากการจัดขบวนแห่ดอกบัวถวายเป็นพุทธบูชาองค์สมเด็จพระพุทธชินราช จากพระราชวังจันทน์ไปยัง วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร ยังมีการจัดพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธชินราชจำลอง ณ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี ,กิจกรรมลงนามความร่วมมือ ด้านการท่องเที่ยวและด้านสินค้าทางการเกษตรในจังหวัดพิษณุโลกกับต่างประเทศ โดยกิจกรรมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังนี้ ขบวนนางรำมังคละเภรีศรีสองแคว จำนวน 766 คน ขบวนแห่ดอกบัว 10,996 คน
สำหรับประวัติของ พระพุทธชินราช ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารด้านตะวันตกในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร มีการสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1900 ตรงกับรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 หรือพญาลิไท พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย พร้อมกับพระพุทธชินสีห์ และ พระศรีศาสดา ปัจจุบันทั้ง 2 องค์ ประดิษฐานอยู่ ณ พระอุโบสถ และ มุขหน้าวิหารพระศาสดาคู่กับพระพุทธไสยา ที่ประดิษฐานอยู่ ณ มุขหลัง วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และพระเหลือ พระพุทธชินราชได้รับการยอมรับว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดองค์หนึ่งและยังเป็นพระพุทธรูปที่นิยมจำลองกันมากที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นพระพุทธรูปที่ประชาชนชาวไทยศรัทธาและนิยมเดินทางมากราบไหว้มากที่สุดองค์หนึ่ง
นอกจากนี้ เอกสารหลักฐานที่กล่าวถึง พระพุทธชินราชนั้น มีระบุในพงศาวดารเหนือ ซึ่งเป็นเอกสารที่เล่าถึงตำนานเมืองเหนือเรื่องต่าง ๆ สมัยกรุงศรีอยุธยา ถูกเรียบเรียงขึ้นใหม่โดยพระวิเชียรปรีชา (น้อย) ในปี พ.ศ. 2350 ที่อ้างถึงกษัตริย์เชียงแสนพระนามพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเป็นผู้สร้าง พร้อมกับการสร้างเมืองพิษณุโลกและพระพุทธรูปอีก 2 องค์คือพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา
พ.ศ. 2409 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชนิพนธ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ในชื่อ "ตำนานพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดา" ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ โดยใช้พงศาวดารเหนือในการอ้างอิงจึงทำให้มีเนื้อหาหลักคล้ายคลึงกัน แต่เพิ่มเติมการสร้างพระเหลือเข้าไป และมีการระบุศักราชในการสร้างพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ไว้ดังนี้ พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาหล่อในปี พ.ศ. 1498 และพระพุทธชินราชหล่อขึ้นในปี พ.ศ. 1500
พ.ศ. 2423 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ได้ทรงแต่งตำนานการสร้างพระพุทธชินราชขึ้นอีกสำนวนหนึ่ง ชื่อ "พงษาวดารเหนือ : เป็นลิลิตเรื่องนิทานพระร่วง แลนิทานพระเจ้าธรรมไตรปิฎก นิทานพระชินศรี พระชินราช พระศาสดา" ซึงมีเนื้อเรื่องเช่นเดียวกับพงศาวดารเหนือและพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างพระบรมราชจักรีวงศ์กับพระพุทธชินราชเข้าไปด้วย
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้มีพระดำริเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระพุทธชินราชจากหลักฐานทางพุทธศิลป์นำมาเปรียบเทียบกับพงศาวดารเหนือว่าพระพุทธชินราช ถูกสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย เนื่องจากพุทธศิลป์อย่างพระพุทธรูปสุโขทัยระคนกับพุทธศิลป์เชียงแสนแต่มีพัฒนาการไปกว่าพระพุทธรูปที่มีอยู่เดิม และช่างผู้สร้างพระพุทธชินราชกับพระพุทธชินสีห์นั้นเป็นช่างเดียวกัน หากแต่พระศรีศาสดาเป็นช่างอื่นจากลักษณะประติมากรรมของพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ที่ปรากฏ แต่จะสร้างพร้อมกันทั้ง 3 องค์หรือไม่นั้นไม่ทราบแน่ชัด และเมื่อพิจารณาช่วงเวลาการสร้างแล้วทรงคาดว่าพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์น่าจะสร้างในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 ในปี พ.ศ. 1900 มิใช่พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก โดยประทานเหตุผลว่า "พระเจ้าแผ่นดินซึ่งปรากฏพระเกียรติในเรื่องพระไตรปิฎกนั้นมีแต่พระองค์เดียวคือพระมหาธรรมราชาลิไทย พระมหาธรรมราชานี้เองที่พงศาวดารเหนือเรียกว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก"
นอกจากนี้ยังมีการสันนิษฐานเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระพุทธชินราชว่าน่าจะถูกสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยพิชญา สุ่มจินดา ซึ่งได้กำหนดอายุเวลาของพระพุทธชินราชขึ้นใหม่จากพุทธลักษณะขององค์พระพุทธรูปจากรูปแบบของเรือนแก้ว โดยเทียบเคียงกับลวดลายบนซุ้มเรือนแก้วที่วัดพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช อายุเวลาของลวดลายดังกล่าวอาจกำหนดได้ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย และจากสถาปัตยกรรมของพระวิหาร ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2232)