ศรัทธาสายมู

รวมวัด สถานที่จัดงานพิธี วันอัฏฐมีบูชา 2566

รวมวัด สถานที่จัดงานพิธี วันอัฏฐมีบูชา 2566

09 มิ.ย. 2566

รวบรวม วัด สถานที่ จัดงานพิธีอีกหนึ่งวันสำคัญของพุทธศาสนา วันอัฏฐมีบูชา 2566 น้อมรำลึกวันคล้ายวันถวายพระเพลิงวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ


วันอัฏฐมีบูชา คือ วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เนื่องด้วยอัฏฐมีคือ วันแรม 8 ค่ำ แห่งเดือนวิสาขะ (เดือน 6) เป็นวันที่ถือกันว่าตรงกับวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เมื่อถึงวันนี้แล้ว พุทธศาสนิกชนบางส่วน ผู้มีความเคารพกล้าในพระพุทธองค์ มักนิยมประกอบพิธีบูชา ณ ปูชนียสถานนั้น ๆ วันนี้จึงเรียกว่า "วันอัฏฐมีบูชา" ในปี 2566 วันอัฏฐมีบูชา ตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 11 มิ.ย. 2566 แรม 8 ค่ำ เดือนเจ็ด(7) ปีเถาะ
นอกจากนั้น วันอัฏฐมีบูชา เป็นวันคล้ายวันที่พระนางสิริมหามายา องค์พระพุทธมารดาสิ้นพระชนม์ (หลังประสูติ) และเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธองค์เสวยวิมุตติสุขตลอด 7 วัน (หลังตรัสรู้) อีกด้วย

สำหรับวันอัฏฐมีบูชา จะมีเพียงบางวัดเท่านั้น ที่จัดให้มีการประกอบกุศลพิธี

วันอัฏฐมีบูชา ภาพจากเพจ Watmaisukhantraram-วัดใหม่สุคนธาราม

สำหรับวัดที่จัดพิธีวันอัฏฐมีบูชา 2566 ได้แก่ วัดใหม่สุคนธาราม ต.วัดละมุด อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม โดยมีการจัดงานระหว่าง 9-11 มิ.ย. ซึ่งเป็นการจัดงานมา 130 ปีของทางวัด โดยในวันที่ 9มิ.ย. เวลา 17.00 น. จัดรำบวงสรวง  ส่วนในวันที่ 11มิ.ย. เวลา 15.00 น. จัดขบวนอัญเชิญพระบรมศพพระพุทธเจ้า(จำลอง)  ซึ่งขบวนแห่ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญของงานวันอัฏฐมีบูชา วัดใหม่สุคนธาราม ที่แต่ละหมู่บ้านต่างร่วมมือร่วมใจนำมาร่วมงาน โดยมีขบวนหลักที่ถ่ายทอดเรื่องราวในพุทธประวัติ และยังมีขบวนเสริมที่ผ่านการระดมคิดของคนในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อให้ขบวนของตัวเองออกมาโดดเด่น สวยงาม สะดุดตา และเต็มไปด้วยความหมายทางธรรม ก่อนเข้าสู่การประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า(จำลอง)ของทางคณะสงฆ์ต่อไป
 

รวมวัด สถานที่จัดงานพิธี วันอัฏฐมีบูชา 2566

วัดพระบรมธาตุ ต.ทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ จัดประเพณีอัฐมีบูชา ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 3 - 11 มิ.ย.การจัดงานในปีนี้เป็นครั้งที่ 68 และวันที่ 11 มิ.ย.จะมีการแสดง แสง สี เสียงและร่วมพิธี ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระจำลองขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

ส่วนในกทม.  วัดด่าน พระราม 3 วันที่ 11 มิ.ย.นี้ มีการจัดงานงานอัฏฐมีบูชา ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานซึ่งบูรพาจารย์และสาธุชนชาววัดด่านจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี คือ งานอัฏฐมีบูชา หรือเรียกอีกอย่างว่างานถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระพระพุทธเจ้าองค์จำลอง ซึ่งชาวบ้านแถวนี้จะเรียกว่า “งานเผาศพพระพุทธเจ้า” ในอดีตจัดงานสองวัน คือ แรม 7 ค่ำ เดือน 6 ตั้งโรงพิธีโดยใช้เมรุลอยโบราณตั้งขึ้นแล้วทำพิธีกรรม มีเทศน์แจงแบบชาวบ้านทำ โดยพิธีเทศน์แจงจะทำกันในวันสุดท้าย คือ แรม 8 ค่ำ เดือน 6 เมื่อถึงเวลาประมาณ 16.00น. น. ถึง 17.00น. จึงประกอบพิธี มีการบรรยายภาพเหตุการณ์ตอนถวายพระเพลิง แล้วจึงทำพิธีโปรยถั่วต้มซึ่งสมมติขึ้นเป็นพระบรมสารีริกธาตุเป็นอันจบพิธี ภายหลังเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้นประเพณีสำคัญนี้จึงยุติลง 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 พระครูสถิตบุญวัฒน์ หลังจากได้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด ท่านได้พยายามศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับวันอัฏฐมีบูชาเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมหาปรินิพพานสูตร ซึ่งได้กล่าวถึงพิธีการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระพระพุทธเจ้าไว้อย่างละเอียด จึงได้ชักชวนชาววัดด่านและตำบลใกล้เคียงฟื้นฟูงานดังกล่าวขึ้นมาใหม่ โดยได้รับความอุปถัมภ์จากสำนักงานเขตยานนาวาเข้ามาร่วมดำเนินการ จนมีผู้สนใจใฝ่รู้มากขึ้น จึงได้จัดเป็นพิธีมหาบูชาอย่างสมบูรณ์ ไม่มีมหรสพหรือการแสดงยั่วยุใดๆ ทั้งสิ้น งานอัฏฐมีบูชาที่วัดด่านจึงเป็นงานบูชาคุณของพระพุทธเจ้าอย่างบริสุทธิ์

พิธีอัฏฐมีบูชา วัดด่าน จะเริ่มจัดตั้งแต่วันแรม 1ค่ำ เดือน 6 โดยอัญเชิญพระบรมศพจำลองซึ่งเป็นรูปพระพุทธเจ้าปางปรินิพพานถอดแบบมาจากเมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย ทำพิธีสวดบูชาคุณ จำนวน 6 คืนจากนั้นจะได้อัญเชิญพระปางปรินิพพานแห่รอบเขตยานนาวาให้ประชาชนได้สักการะบูชา โดยเรียกว่า “แห่พระปางดับทุกข์” และมีพระสงฆ์สวดมนต์สูตรสำคัญเพื่อความดับทุกข์รับสุขตลอดเส้นทาง