ศรัทธาสายมู

อลังการ บวงสรวง 'พญาศรีสัตตนาคราช' พลังแห่งศรัทธา ‘พญานาค’

อลังการ บวงสรวง 'พญาศรีสัตตนาคราช' พลังแห่งศรัทธา ‘พญานาค’

06 ก.ค. 2566

ประติมากรรม ‘พญาศรีสัตตนาคราช’ เกิดจากความเชื่อ ความศรัทธาของประชาชนจ.นครพนม ที่มีต่อตำนานความเชื่อเรื่อง ‘พญานาค’ ในฐานะที่เป็นผู้เกื้อหนุนพระพุทธศาสนา รวมถึง องค์พระธาตุพนม และปกปักษ์ดินแดนแถบลุ่มน้ำโขง

'นาค' เป็นสัตว์ในตำนานที่ดำรงอยู่ในวัฒนธรรมไทย มาอย่างยาวนานนับพันปี ทรงอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อของผู้คน ในหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ ความศรัทธา จารีตประเพณี ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ตำนานบ้านเมือง 
 

ตลอดจนคติทางศาสนาที่กล่าวว่า ‘นาค’ เป็นผู้พิทักษ์ปกป้องศาสนสถาน นำความสุข ความเจริญให้แก่พุทธบริษัท จึงมักปรากฏรูปนาคสร้างประกอบไว้ในศาสนสถานเสมอ

ขณะเดียวกันมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2565 เห็นชอบให้ ‘นาค’ เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย ประเภทสัตว์ในตำนาน อันเป็นการประกาศเชิงสัญลักษณ์ เพื่อสร้างการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติ

อลังการ บวงสรวง \'พญาศรีสัตตนาคราช\' พลังแห่งศรัทธา ‘พญานาค’

 

‘นาค’ ในตำนานปรัมปรา หรือนิทานพื้นบ้านตามคติความเชื่อดั้งเดิมของกลุ่มชาวไท-ไทยและกลุ่มชาติพันธุ์ ในลุ่มแม่น้ำโขง มักปรากฏในรูปแบบสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ สะท้อนคติความเชื่อ และเป็นต้นกำเนิดวัฒนธรรมท้องถิ่น อาทิ 

  • พิธีกรรมฮดสรง (พิธีเถราภิเษก) 
  • พิธีแห่พระอุปคุตเพื่อบูชาก่อนจัดงานบุญพระเวสสันดร 
  • ตำนานบั้งไฟพญานาค 
  • ตำนานคำชะโนด หรือตำนานประเพณี ไหลเรือไฟจังหวัดนครพนม ซึ่งเรือที่ตกแต่งขึ้นนั้นเป็นตัวแทน องค์พญานาคเพื่อลอยบูชารอยพระพุทธบาท นาค จึงถือเป็นสัญลักษณ์ สะท้อนวัฒนธรรมของประชาชนจ.นครพนม มาอย่างแนบแน่น

 

อลังการ บวงสรวง \'พญาศรีสัตตนาคราช\' พลังแห่งศรัทธา ‘พญานาค’

จากความเชื่อความศรัทธาของผู้คนในพื้นที่ ที่มีต่อตำนานความเชื่อเรื่อง ‘พญานาค’ ในฐานะที่เป็นผู้เกื้อหนุนพระพุทธศาสนา รวมถึง องค์พระธาตุพนม และปกปักษ์ดินแดนแถบลุ่มน้ำโขง จ.นครพนมจึงได้ร่วมกับประชาชนชาว จ.นครพนม และผู้ที่เคารพศรัทธาต่อองค์พญานาค จัดสร้างประติมากรรม ‘พญาศรีสัตตนาคราช’ เพื่อเป็นสัญลักษณ์เมืองที่แสดงถึง พลังแห่งความศรัทธา 

พญาศรีสัตตนาคราช

 

ประติมากรรม ‘พญาศรีสัตตนาคราช’ นั้น หล่อด้วยทองเหลืองมี 7 เศียร ขดลำตัว 3 ชั้น ขนาดกว้างรวมหาง 4.49 เมตร ประดิษฐานอยู่บนแท่นรวมความสูง 16.29 เมตร น้ำหนักรวม 9 ตัน หันหน้าไปทางทิศเหนือเฉียงตะวันออก ประดิษฐานเป็นสง่าอยู่ท่ามกลางทัศนียภาพอันสวยงามริมแม่น้ำโขง ณ บริเวณถนนสุนทรวิจิตร อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม 

 

เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชา โดยจ.นครพนมได้จัดพิธีอัญเชิญองค์ ‘พญาศรีสัตตนาคราช’ ขึ้นประดิษฐาน และจัดพิธีสมโภชใหญ่พุทธาภิเษก เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2559

 

คติการสร้างกล่าวถึง ‘พญาศรีสัตตนาคราช’ นั้นได้พิจารณาเห็นว่า ผิวกายตนมีโคลนตมคราบไคลที่มัวหมอง เปรียบกับกิเลส ตัณหา ราคะอันเป็นมลทิน จึงได้ลอกคราบไคลเหล่านั้น ไว้เบื้องล่าง เหลือเพียงผิวกายสีทองอร่าม เป็นสิริมงคล แล้วขึ้นไปขดอยู่บนแท่นอันเป็นเอกมงคลแห่งนี้ เพื่อให้ผู้ที่มีความศรัทธาได้เดินทางมาสักการะขอพร พระศอคล้องสังวาลรูปสัญลักษณ์ เหนือซุ้มประตูพระธาตุพนมแสดงถึงการเป็นพญานาคผู้รักษาองค์พระธาตุพนม

 

จ.นครพนม มูลนิธิพญาศรีสัตตนาคราช ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด (สวจ.) นครพนม และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จัดงาน “บวงสรวง พญาศรีสัตตนาคราช ” ในวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี ตลอดระยะเวลา 7 วัน 7 คืน 

 

โดยในปี 2566 นี้ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-13 ก.ค. 2566  ณ บริเวณลานพญาศรีสัตตนาคราช อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม กิจกรรมประกอบด้วย พิธีบวงสรวงและรำบูชาพญาศรีสัตตนาคราช ตลอดระยะเวลา 7 วัน จาก 12 อำเภอ 

 

อลังการ บวงสรวง \'พญาศรีสัตตนาคราช\' พลังแห่งศรัทธา ‘พญานาค’

นางรำสวมใส่ชุดพื้นเมืองตามอัตลักษณ์กลุ่มชาติพันธุ์ 9 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ ได้แก่ ชาติพันธุ์ไทอีสาน ไทญ้อ ไทแสก ไทข่า ไทกะเลิง ไทโส้ ผู้ไท ไทกวน ไทตาด ชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม และชาวไทยเชื้อสายจีน 

 

การแสดงโขน เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน พรหมพงศ์วงศ์อสุรา โดยวิทยาลัยนาฎศิลปกาฬสินธุ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ณ บริเวณถนนนิตโย 


อลังการ บวงสรวง \'พญาศรีสัตตนาคราช\' พลังแห่งศรัทธา ‘พญานาค’

และการเสวนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับ ‘นาค’ เอกลักษณ์ประจำชาติไทย ณ ตลาดคนเมืองไทนคร บริเวณลานพญาศรีสัตตนาคราช รวมทั้งนิทรรศการ เรื่อง ‘นาค’ เอกลักษณ์ประจำชาติไทย ประเภทสัตว์ในตำนาน กิจกรรมประกวดภาพถ่าย ‘นาคในคติศาสนาและวิถีชีวิต’ โดยกรมการศาสนา

 

และกิจกรรมประกวดภาพถ่าย ‘ประเพณี 12 เดือน ร้อยมุมมองวิถีไทย’ โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมและ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

 

นอกจากนั้น ยังมีการจัดมหกรรมผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม และผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยที่เกี่ยวเนื่องกับพญานาค ภายใต้ชื่อ ‘ตลาดคนเมืองไทนคร’ ณ บริเวณลานพญาศรีสัตตนาคราช และหน้าวัดมหาธาตุ มีการออกร้านสาธิต จัดแสดงและ จำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม CPOT CCPOT ผลิตภัณฑ์ชุมชน

 

และผลิตภัณฑ์ ร่วมสมัย ที่เกี่ยวเนื่องกับนาค ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ของใช้ ของที่ระลึก และอาหาร เป็นต้น จากชุมชน 9 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ จ.นครพนม รวมทั้งจังหวัดแถบลุ่มน้ำโขงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ สกลนคร อุบลราชธานี อุดรธานี บึงกาฬ หนองคาย มุกดาหาร และยโสธร

 

งานบวงสรวง พญาศรีสัตตนาคราช ประจำปี 2566 เป็น 1ใน 16 เทศกาลประเพณี ที่กระทรวงวัฒนธรรมประกาศยกระดับสู่ระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยสำนักงานวัฒนธรรม จ.นครพนมบูรณาการความร่วมมือกับจ.นครพนม จัดขึ้นโดยเป็นการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ ด้วยวัฒนธรรม รวมทั้งผลักดัน ‘Soft Power’ ความเป็นไทย เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดี ให้แก่ประเทศตามนโยบายรัฐบาล

 

โดยเฉพาะอุตสาหกรรม วัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5F งานเทศกาลประเพณี (Festival) กระตุ้นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของจ.นครพนมและประเทศด้วยมรดกทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน

 

ขอบคุณที่มาข้อมูล : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร จ.นครพนม สำนักงานวัฒนธรรมจ.นครพนม 

ภาพประกอบ: แฟนเพจเฟซบุ๊กการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานนครพนม