ศรัทธาสายมู

พระคาถาดีคู่กาย แนะนำ บทสวด โมรปริตร มนต์นกยูงทองคุ้มภัย

พระคาถาดีคู่กาย แนะนำ บทสวด โมรปริตร มนต์นกยูงทองคุ้มภัย

15 ส.ค. 2566

สายมูต้องสวดเสริมสิริมงคล ป้องกันภัย คุ้มครอง กับพระคาถาบท โมรปริตร สวดเพื่อป้องกันภยันตรายต่างๆมาจากเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ หรือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่จะทรงตรัสรู้ เมื่อครั้งที่ทรงเสวยพระชาติเป็นนกยูง


บทสวดมนต์ ที่มีความเป็นมงคล สร้างความสงบสุขในจิตใจนั้น มีด้วยกันหลายบท หนึ่งใน บทสวดมนต์ ที่มีการกล่าวถึง พุทธคุณ ที่เชื่อกันว่า ป้องกันภัยนั้น มีบท ที่เรียกว่า โมรปริตร หรือ คาถานกยูงทอง เป็นหนึ่งใน บทสวดมนต์ ที่แนะนำให้สวดเสริมสิริมงคล 

โมรปริตร หรือ โมรปริตตปาฐะ เป็นบทสวดมนต์เรียบเรียงไว้เป็นส่วนหนึ่งในภาณวารหรือหนังสือบทสวดมนต์หลวง รวมถึงในบทสวดมนต์7 ตำนาน และ12 ตำนาน โมรปริตร นี้ เป็นบทสวดเพื่อป้องกันภยันตรายต่างๆมาจากเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ หรือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนที่จะทรงตรัสรู้ เมื่อครั้งที่ทรงเสวยพระชาติเป็นนกยูง

เรื่องราวตำนานพระคาถานี้ ได้มีการระบุไว้ว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ ณ วัดเชตวันมหาวิหาร ณ เมืองสาวัตถี มีเหตุเกี่ยวกับพระภิกษุเกิดความกระสันเนื่องจากเห็นสตรีตกแต่งร่างกายงดงาม จึงตรัสว่ามาตุคามว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อพรหมจรรย์  จากนั้นจึงทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า ดังนี้ว่า


ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในกำเนิดนกยูง ในเวลาเป็นฟอง มีกระเปาะฟองคล้ายสีดอกกรรณิการ์ตูม ครั้นเจาะกระเปาะฟองออกมาแล้ว มีสีดุจทองคำ น่าดู น่าเลื่อมใส มีสายแดงพาดในระหว่างปีก


นกยูงนั้นคอยระวังชีวิตของตน อาศัยอยู่ ณ พื้นที่เขาทัณฑกหิรัญแห่งหนึ่ง ใกล้แนวเขาที่สี่เลยแนวเขาที่สามไป ตอนสว่าง นกยูงทองจับอยู่บนยอดเขา มองดูพระอาทิตย์กำลังขึ้น เมื่อจะผูกมนต์อันประเสริฐ เพื่อรักษาป้องกันตัว ณ ภูมิภาคที่หาอาหาร จึงกล่าวคาถา (แสดงความนอบน้อมต่อดวงอาทิตย์) ครั้นนอบน้อมพระอาทิตย์ด้วยคาถานี้ อย่างนี้แล้ว จึงนมัสการพระพุทธเจ้าซึ่งเสด็จปรินิพพานไปแล้วในอดีต และพระคุณของพระพุทธเจ้า ด้วยคาถาที่สอง (ดังที่ปรากฎในโมรชาดก) นกยูงนั้น ครั้นเจริญพระปริตร คือการป้องกันนี้แล้ว จึงพักอยู่ ณ ที่อยู่นั้น ด้วยอานุภาพแห่งพระปริตรนี้ นกยูงมิได้มีความกลัว ความสยดสยอง ตลอดคืนตลอดวัน

ลำดับนั้น พรานชาวบ้านเนสาทคนหนึ่ง อยู่ไม่ไกลกรุงพาราณสีท่องเที่ยวไปในหิมวันตประเทศ เห็นนกยูงโพธิสัตว์จับอยู่บนยอดเขาทัณฑกหิรัญ จึงกลับมาบอกลูก

อยู่มาวันหนึ่ง พระนางเขมาพระเทวีของพระเจ้ากรุงพาราณสี ทรงสุบินเห็นนกยูงสีทองแสดงธรรม ขณะตื่นพระบรรทมได้กราบทูลสุบินแด่พระราชาว่า ขอเดชะ ข้าแต่พระองค์ หม่อมฉันประสงค์จะฟังธรรมของนกยูงสีทอง เพคะ พระราชาจึงมีพระดำรัสถามพวกอำมาตย์ พวกอำมาตย์กราบทูลว่า พวกพราหมณ์คงจะทราบ พ่ะย่ะค่ะ

พราหมณ์ทั้งหลายสดับพระราชปุจฉาแล้ว จึงพากันกราบทูลว่า ขอเดชะ นกยูงสีทองมีอยู่แน่ พระเจ้าข้า

พระราชาตรัสถามว่า มีอยู่ที่ไหนเล่า จึงกราบทูลว่า พวกพรานจักทราบ พระเจ้าข้า พระราชารับสั่งให้ประชุมพวกพราน แล้วตรัสถาม

ครั้นแล้วบุตรพรานคนนั้นก็กราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าแต่มหาราช นกยูงสีทองมีอยู่จริง อาศัยอยู่ ณ ทัณฑกบรรพต พระเจ้าข้า

พระราชารับสั่งว่า ถ้าเช่นนั้น เจ้าจงไปจับนกยูงนั้นมา อย่าให้ตาย
 

พรานจึงเอาบ่วงไปดักไว้ที่ ณ ที่นกยูงหาอาหาร แม้ในสถานที่ที่นกยูงเหยียบ บ่วงก็หาได้กล้ำกรายเข้าไปไม่ พรานไม่สามารถจับนกยูงได้ ท่องเที่ยวอยู่ถึงเจ็ดปี ได้ถึงแก่กรรมลง ณ ที่นั้นเอง

แม้พระนางเขมาราชเทวี เมื่อไม่ได้สมพระประสงค์ก็สิ้นพระชนม์. พระราชาทรงกริ้วว่า พระเทวีได้สิ้นพระชนม์ลงเพราะอาศัยนกยูง จึงให้จารึกอักษรไว้ในแผ่นทอง ว่า

ในหิมวันตประเทศ มีภูเขาลูกหนึ่ง ชื่อทัณฑกบรรพต นกยูงสีทองตัวหนึ่งอาศัยอยู่ ณ ที่นั้น ผู้ได้กินเนื้อของมัน ผู้นั้นจะไม่แก่ไม่ตาย จะมีอายุยืน แล้วเก็บแผ่นทองไว้ในหีบทอง

ครั้นพระราชาสวรรคตแล้ว พระราชาองค์อื่นครองราชสมบัติ ทรงอ่านข้อความในสุพรรณบัฎ มีพระประสงค์จะไม่แก่ไม่ตาย จึงทรงส่งพรานคนอื่นไปให้เที่ยวแสวงหา

แม้พรานนั้นไปถึงที่นั้นแล้ว ก็ไม่สามารถจะจับพระโพธิสัตว์ได้ ได้ตายไปในที่นั้นเอง โดยทำนองนี้ พระราชาสวรรคตไปหกชั่วพระองค์

ครั้นถึงองค์ที่เจ็ดครองราชมบัติ จึงทรงส่งพรานคนหนึ่งไป. พรานนั้นไปถึงแล้ว ก็รู้ถึงภาวะที่บ่วงมิได้กล้ำกราย แม้ในที่ที่นกยูงโพธิสัตว์เหยียบ และการที่นกยูงโพธิสัตว์เจริญพระปริตรป้องกันตนก่อนแล้ว จึงบินไปหาอาหาร จึงขึ้นไปยังปัจจันตชนบท. จับนางนกยูงได้ตัวหนึ่ง ฝึกให้รู้จักฟ้อนด้วยเสียงปรบมือ และให้รู้จักขันด้วยเสียงดีดนิ้ว

ครั้นฝึกนางนกยูงจนชำนาญดีแล้ว จึงพามันไป. เมื่อนกยูงทองยังไม่เจริญพระปริตร ปักโคนบ่วงดักไว้ในเวลาเช้า ทำสัญญาณให้นางนกยูงขัน. นกยูงทองได้ยินเสียงมาตุคาม ซึ่งเป็นข้าศึกแล้ว ก็เร่าร้อนด้วยกิเลส ไม่อาจเจริญพระปริตรได้ จึงบินโผไปติดบ่วง. พรานจึงจับนกยูงทองไปถวาย พระเจ้าพาราณสี พระราชาทอดพระเนตรเห็นรูปสมบัติของนกยูงทอง ก็ทรงพอพระทัยพระราชทานที่ให้จับ

นกยูงทองโพธิสัตว์จับอยู่เหนือคอนที่เขาจัดแต่งให้ จึงทูลถามว่า ข้าแต่มหาราช เพราะเหตุไร จึงมีรับสั่งให้จับข้าพเจ้า

พระราชาตรัสว่า ข่าวว่า ผู้ใดกินเนื้อเจ้า ผู้นั้นจะไม่แก่ไม่ตาย ข้าพเจ้าต้องการกินเนื้อเจ้า จะได้ไม่แก่ไม่ตายบ้าง จึงให้จับเจ้ามา นกยูงทองทูลว่า ข้าแต่มหาราช คนทั้งหลายกินเนื้อข้าพเจ้าจะไม่แก่ไม่ตาย ก็ช่างเถิด แต่ข้าพเจ้าจักตายหรือ

รับสั่งว่า จริง เจ้าต้องตาย

กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช เมื่อข้าพเจ้าต้องตาย ผู้ที่กินเนื้อข้าพเจ้าแล้ว ทำอย่างไรจึงไม่ตายเล่า

รับสั่งว่า เจ้ามีตัวเป็นสีทอง เพราะฉะนั้น มีข่าวว่า ผู้ที่กินเนื้อเจ้าแล้ว จักไม่แก่ไม่ตาย

กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพเจ้ามีสีทอง เพราะไม่มีเหตุหามิได้. เมื่อก่อน ข้าพเจ้าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ในนครนี้แหละ ทั้งตนเองก็รักษาศีลห้า แม้ชนทั้งหลายทั่วจักรวาฬก็ให้รักษาศีล ข้าพเจ้าสิ้นชีพแล้วก็ไปบังเกิดในภพดาวดึงส์ ดำรงอยู่ในภพนั้นจนตลอดอายุ จุติจากนั้นแล้ว จึงมาเกิดในกำเนิดนกยูง เพราะผลแห่งอกุศลกรรมอื่น อีกอย่างหนึ่ง แต่ตัวมีสีทอง ก็ด้วยอานุภาพศีลห้าที่รักษาอยู่ก่อน

รับสั่งถามว่า เจ้าพูดว่า เจ้าเป็นเจ้าจักรพรรดิ์รักษาศีลห้า ตัวมีสีเป็นทอง เพราะผลของศีล ข้อนี้ ข้าพเจ้าจะเชื่อได้อย่างไร มีใครเป็นพยาน

กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช มี

รับสั่งถามว่า ใครเล่า

กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช เมื่อครั้งเป็นเจ้าจักรพรรดิ์ ข้าพเจ้านั่งรถสำเร็จด้วยแก้วเจ็ดประการ เที่ยวไปในอากาศ รถของข้าพเจ้านั้นจมอยู่ ภายใต้ภาคพื้นสระมงคลโบกขรณี โปรดให้ยกรถนั้นขึ้นจากสระมงคลโบกขรณีเถิด รถนั้นจักเป็นพยานของข้าพเจ้า

พระราชารับสั่งว่า ดีละ แล้วให้วิดน้ำออกจากสระโบกขรณี ยกรถขึ้นได้ จึงทรงเชื่อคำของพระโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์แสดงธรรมถวายพระราชาว่า ข้าแต่มหาราช ธรรมที่ปรุงแต่งทั้งหมด ที่เหลือนอกจาก พระอมตมหานิพพานแล้ว ชื่อว่าไม่เที่ยง มีความสิ้นและความเสื่อมเป็นธรรมดา เพราะมีแล้วกลับไม่มี ดังนี้ แล้วให้พระราชาดำรงอยู่ในศีลห้า

พระราชาทรงเลื่อมใส บูชาพระโพธิสัตว์ด้วยราชสมบัติ ได้ทรงกระทำสักการะเป็นอันมาก

นกยูงทองถวายราชสมบัติคืนแด่พระราชา พักอยู่ 2 - 3 วัน จึงถวายโอวาทว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงทรงไม่ประมาทเถิด แล้วบินขึ้นอากาศไปยังภูเขาทัณฑกหิรัญ

ฝ่ายพระราชาดำรงอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์แล้ว ทรงบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น เสด็จไปตามยถากรรม

หลังจากทรงแสดงเรื่องราวในอดีตแล้ว สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเฉลยว่า พระราชาในครั้งนั้น คือพระอานนท์ ส่วนนกยูงนั้นคือพระมหาบุรุษเอง

บทขัด โมระปะริตตัง

ปูเรนตัมโพธิสัมภาเร นิพพัตตัง โมระโยนิยัง
เยนะ สังวิหิตารักขัง มะหาสัตตัง วะเนจะรา
จิรัสสัง วายะมันตาปิ เนวะ สักขิงสุ คัณหิตุง
พรัหมะมันตันติ อักขาตัง ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ


บทสวด โมระปะริตตัง


อุเทตะยัญจักขุมา เอกะราชา
หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง
ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ ทิวะสัง
เย พ๎ราห๎มะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม
เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ
นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
อิมัง โส ปะริตตัง กัต๎วา โมโร จะระติ เอสะนา ฯ

อะเปตะยัญจักขุมา เอกะราชา
หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง
ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ รัตติง
เย พ๎ราห๎มะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม
เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ
นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
อิมัง โส ปะริตตัง กัต๎วา โมโร วาสะมะกัปปะยีติ ฯ

 

บทสวด โมระปะริตตัง แปล


(หันทะ มะยัง โมระปะริตตัง ภะณามะ เส)

อุเทตะยัญจักขุมา เอกะราชา
หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
-พระอาทิตย์เป็นดวงตาของโลก เป็นเจ้าแห่งแสงสว่าง
กำลังอุทัยขึ้นมา สาดแสงสีทองส่องพื้นปฐพี

ตัง ตัง นะมัสสามิ
-เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอนอบน้อม ซึ่งพระอาทิตย์นั้น

หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง
-ผู้สาดแสงสีทองส่องพื้นปฐพี

ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ ทิวะสัง
-ข้าพเจ้าทั้งหลาย อันท่านคุ้มครองแล้ว
พึงอยู่เป็นสุข ตลอดเวลากลางวันวันนี้

เย พ๎ราห๎มะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม
-ท่านผู้ลอยบาปได้แล้ว เหล่าใด
เป็นผู้รู้จบในธรรมทั้งปวง

นะโม วิมุตติยา
-ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่วิมุตติธรรม

อิมัง โส ปะริตตัง กัต๎วา โมโร จะระติ เอสะนา ฯ
-นกยูงนั้น กระทำปริตอันนี้แล้ว จึงเที่ยวไปแสวงหาอาหาร
อะเปตะยัญจักขุมา เอกะราชา
หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
-พระอาทิตย์เป็นดวงตาของโลก เป็นเจ้าแห่งแสงสว่าง
กำลังลาลับไป จากการส่องแสงแก่พื้นปฐพี

ตัง ตัง นะมัสสามิ
-เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอนอบน้อม ซึ่งพระอาทิตย์นั้น

หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง
-ผู้สาดแสงสีทองส่องพื้นปฐพี

ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ ทิวะสัง
-ข้าพเจ้าทั้งหลาย อันท่านคุ้มครองแล้ว
พึงอยู่เป็นสุข ตลอดเวลากลางวันวันนี้

เย พ๎ราห๎มะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม
-ท่านผู้ลอยบาปได้แล้ว เหล่าใด
เป็นผู้รู้จบในธรรมทั้งปวง

เต เม นะโม
-ขอท่านผู้ลอยบาปแล้วเหล่านั้น
จงรับความนอบน้อมของข้าพเจ้าเถิด

เต จะ มัง ปาละยันตุ
-ขอท่านผู้ลอยบาปแล้วเหล่านั้น โปรดรักษาข้าพเจ้าด้วยเถิด

นะมัตถุ พุทธานัง
-ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย

นะมัตถุ โพธิยา
-ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย

นะโม วิมุตตานัง
-ความนอบน้อมของข้าพเจ้า
จงมีแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว จากกิเลสทั้งหลาย

นะโม วิมุตติยา
-ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่วิมุตติธรรม

อิมัง โส ปะริตตัง กัต๎วา โมโร จะระติ เอสะนา ฯ
-นกยูงนั้น กระทำปริตอันนี้แล้ว จึงพักผ่อนหลับนอนแล ฯ

คัดลอกจาก หนังสือมนต์พิธีแปล
รวบรวมโดย พระครูอรุณธรรมรังษี (เอี่ยม สิริวัณโณ)
วัดอรุณราชวราราม(คณะ๓) เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ ยังสามารถสวดหัวใจคาถานี้ เพื่อป้องกันภัยแคล้วคลาดได้เช่นกัน โดยที่มาของคาถานี้ เป็นเรื่องราวของความเชื่อที่กล่าวขานกันว่า สมัยเกิดขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และได้ถูกจารึกไว้ในหนังสือ "รำลึกวันวาน" ซึ่งบันทึกโดย หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ มีความตอนหนึ่งดังนี้

 ระหว่างที่หลวงปู่มั่นพำนักอยู่ที่ดอยมูเซอ วันหนึ่ง พระสยามเทวาธิราช พร้อมทั้งเทพบริวารได้พากันมากราบนมัสการท่านซึ่งกำลังเดินจงกรมอยู่ พอรายงานตัวเสร็จ ท่านก็ถามถึงวัตถุประสงค์ที่มา พระสยามเทวาธิราชตอบว่า

     "เวลานี้ฝ่ายสัมพันธมิตรได้มาทิ้งระเบิดที่กรุงเทพฯ อย่างหนักหน่วง  พวกข้าพเจ้าป้องกันเต็มที่"

     หลวงปู่มั่นถามว่า "มีคนบาดเจ็บล้มตายไหม?"

     พระสยามเทวาธิราชตอบว่า "มี"

     หลวงปู่มั่นถามว่า "ทำไมไม่ช่วย?"

     พระสยามเทวาธิราช ตอบว่า "ช่วยไม่ได้ เพราะเขามีกรรมเวรกับฝ่ายข้าศึก ... จะช่วยได้แต่ผู้ไม่มีกรรม สถานที่สำคัญ และพระพุทธศาสนาเท่านั้น"

     หลวงปู่มั่นถามว่า "มานี่มีจุดประสงค์อะไร?"

     พระสยามเทวาธิราช ตอบว่า "ขอให้ท่านบอกคาถาปัดเป่าลูกระเบิดไม่ให้ตกถูกที่สำคัญด้วย"

     หลวงปู่มั่นจึงกำหนดจิตพิจารณาจนได้คาถาว่า

     "นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา"

     เมื่อท่านบอกให้แล้ว คณะเทพของพระสยามเทวาธิราชก็อนุโมทนาสาธุการแล้วลากลับไป