ศรัทธาสายมู

ตามรอยเสริมดวง ฉบับ หมอช้าง ที่ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

ตามรอยเสริมดวง ฉบับ หมอช้าง ที่ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

26 ส.ค. 2566

ตามรอย หมอช้าง นักพยากรณ์ชื่อดัง กับการแนะนำการเสริมดวง เสริมสิริมงคล ที่ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร พร้อมเคล็ดลับเสริมปัง

การเสริมสิริมงคล เสริมดวงชะตา เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับ คนไทยหัวใจสายมูเตลู ที่มีความเชื่อถือความศรัทธา ทั้งไหว้พร ไหว้เทพ ขอพร ในเรื่องต่างๆ เช่น การเงิน การงาน ความรัก เป็นต้น และเมื่อกล่าวถึงการเสริมดวงชะตา นั้น หมอช้าง ทศพร ศรีตุลา นักโหราศาสตร์ นักพยากรณ์ชื่อดัง ได้แนะนำการเสริมสิริมงคล ที่น่าสนใจ กับ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง

นั่นคือ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

ตามรอยเสริมดวง ฉบับ หมอช้าง ที่ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดแจ้ง เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยา เหตุที่ชื่อวัดแจ้ง เพราะ พระเจ้าตากสิน ทำศึกเสร็จ แล้วยกทัพกลับมาเป็นเวลาเช้าพอดี ว่ากันว่าเดิมเรียกว่า วัดมะกอก และกลายเป็นวัดมะกอกนอกในเวลาต่อมา เพราะได้มีการสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกัน แต่อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียกวัดที่สร้างใหม่ว่า วัดมะกอกใน หรือ วัดนวลนรดิศ แล้วจึงเรียกวัดมะกอกซึ่งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ว่า วัดมะกอกนอก ส่วนเหตุที่มีการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้งนั้น เชื่อกันว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งราชธานีที่กรุงธนบุรีใน พ.ศ. 2310 ได้เสด็จมาถึงหน้าวัดนี้ตอนรุ่งแจ้ง จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดแจ้ง

เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังที่ประทับนั้น ทรงเอาป้อมวิชัยประสิทธิ์ข้างฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งตัวพระราชวัง แล้วขยายเขตพระราชฐานจนวัดแจ้งเป็นวัดภายในพระราชวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์สมัยอยุธยา และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ใน พ.ศ. 2321 ก่อนที่จะย้ายมาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามในปี พ.ศ. 2327

ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังเดิม และได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดแจ้งใหม่ทั้งวัด แต่ยังไม่ทันสำเร็จก็สิ้นรัชกาลที่ 1 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้งต่อมา และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม” ต่อมามีพระราชดำริที่จะเสริมสร้างพระปรางค์หน้าวัดให้สูงขึ้น แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เสริมพระปรางค์ขึ้นและให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่จะเป็นพระประธานวัดนางนองมาติดต่อบนยอดนภศูล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชธารามหลายรายการ และให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถด้วย เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นลง พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม”

พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก

สำหรับการมูเตลูเสริมดวงตามแบบฉบับ หมอช้าง เริ่มต้นจาก การไปสักการะพระประธานของวัด นั่นคือ พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก เพื่อความเป็นสิริมงคล รวมทั้งการเดินเข้าพระอุโบสถ หากเดินเข้าด้านหน้า จากทางริมแม่น้ำ จะต้องรอดผ่านมาณฑปยอดมงกุฏ มีความเชื่อว่า หากใครได้รอดมณฑปนี้

มณฑปยอดมงกุฏ

จะทำให้หน้าที่การงานดี มียศมีตำแหน่งที่ดี จุดต่อมาคือการสักการะยักษ์วัดแจ้ง องค์ด้านซ้ายกายสีเขียว คือ ทศกัณฑ์ ด้านขวา กายสีขาว คือ สหัสเดชะ การขอพรเน้นเรื่องหน้าที่การงาน โดยต้องขอพรทั้ง 2 ยักษ์ด้วยกัน 

ทศกัณฑ์

สหัสเดชะ

ถัดมา เป็นการขอพรกับพระปรางค์ ยอดพระปรางค์มีรูปของพระอินทร์ ประทับช้างเอราวัณ และมีการบรรจุสิ่งที่เป็นมงคลไว้จำนวนไม่น้อย การขอพรเป็นไปเพื่อให้ชีววิตมีความรุ่งเรืองทุกคืนวัน จุดที่หมอช้างแนะนำให้ขอพร จะเป็นแท่นสักการะ ที่อยู่ระหว่างโบสถ์น้อยกับวิหารน้อย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ดี หันเข้าหาทิศตะวันออก 

ตามรอยเสริมดวง ฉบับ หมอช้าง ที่ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

จากนั้น มาทำการสักการะพระเจดีย์จุฬามณี ที่ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารน้อย และกราบไหว้ขอพรหลวงพ่อรุ่งมงคล ภายในโบสถ์น้อย ซึ่งเป็นพระประธานองค์เก่าของวัด

พระเจดีย์จุฬามณี

หลวงพ่อรุ่งมงคล

จากนั้นถวายสักการะพระบรมราชานุสรณ์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ พระเจ้าตากสิน มีความเชื่อกันว่าหากต้องการความรุ่งเรืองในหน้าที่การงานไม่ควรพลาดการไหว้ขอพรในโบสถ์น้อย 

ตามรอยเสริมดวง ฉบับ หมอช้าง ที่ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

และยังมีสิ่งสำคัญ นั่นคือ พระแท่นวิปัสสนา ของ พระเจ้าตาก เชื่อกันว่า การลอดพระแท่น เป็นการล้างอาถรรพ์ ปัดเป่าสิ่งไม่ดี 

ตามรอยเสริมดวง ฉบับ หมอช้าง ที่ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร