ศรัทธาสายมู

ชี้เป้า ขอพรการงาน ความสำเร็จ กับ ยักษ์วัดแจ้ง ทศกัณฐ์-สหัสเดชะ

ชี้เป้า ขอพรการงาน ความสำเร็จ กับ ยักษ์วัดแจ้ง ทศกัณฐ์-สหัสเดชะ

29 ส.ค. 2566

ชี้เป้ามูเตลู สายไหว้พระขอพร กับการขอความสำเร็จในหน้าที่การงาน กับ ยักษ์วัดแจ้ง ทศกัณฐ์-สหัสเดชะ ยักษ์ทวารบาลสำคัญของ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

ชื่อเสียงของ ยักษ์วัดแจ้ง เป็นที่รู้จักกันดี ในตำนานยักษ์วัดแจ้งกับยักษ์วัดโพธิ์ มีระบุเป็นตำนานขานเล่ากันว่า  ยักษ์วัดโพธิ์ซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดโพธิ์ และยักษ์วัดแจ้ง ซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดแจ้งหรือวัดอรุณฯ ฝั่งตรงข้ามนั้น ทั้ง 2 ตน เป็นเพื่อนรักกัน วันหนึ่งทางฝ่ายยักษ์วัดโพธิ์ไม่มีเงิน จึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปขอยืมเงินจากยักษ์วัดแจ้ง พร้อมทั้งนัดวันที่จะนำเงินไปส่งคืน เมื่อถึงกำหนดส่งเงินคืน ยักษ์วัดโพธิ์กลับไม่ยอมจ่าย เบี้ยวเอาเสียดื้อๆ ยักษ์วัดแจ้งเมื่อรอแล้วรอเล่าจนทนไม่ไหว จึงตัดสินใจข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาทวงเงินคืน แต่ยักษ์วัดโพธิ์ไม่ยอมให้ ดังนั้น ในที่สุดยักษ์ทั้ง 2 ตน จึงเกิดการทะเลาะถึงขั้นต่อสู้กัน แต่เพราะรูปร่างที่ใหญ่โตมหึมาและมีกำลังมหาศาลของยักษ์ทั้ง 2 ตน เมื่อต่อสู้กันจึงทำให้ต้นไม้ในบริเวณนั้นถูกยักษ์ทั้งสองเหยียบย่ำจนล้มตายลงหมด หลังจากที่เลิกต่อสู้กันแล้วบริเวณที่ทั้งสองประลองกำลังกันนั้น จึงราบเรียบกลายเป็นสถานที่ที่โล่งเตียนไปหมด ไม่มีอะไรเหลือเลย สุดท้าย "ยักษ์วัดพระแก้ว" ต้องมาเป็นผู้ห้ามทัพ

  ยักษ์วัดแจ้ง
ขณะที่ข้อมูลตามประวัติศาสตร์ระบุไว้ว่า รูปปั้นพญายักษ์ยืนของวัดอรุณราชวราราม หรือที่ชาวบ้านทั่วไปรู้จักกันในนาน ยักษ์วัดแจ้ง คู่นี้นั้นเป็นพญายักษ์โบราณอันศักดิ์สิทธิ์ ที่มีตำนานเล่าขานถึงเรื่องราวปาฏิหารย์และความศักสิทธิ์ เกี่ยวกับพญายักษ์โบราณคู่นี้มากมายหลายเรื่องเล่า ตั้งแต่ครั้งอดีตเมื่อคราวเริ่มสร้างจวบจนมาถึงในยุคปัจจุบัน เป็นรูปปั้นพญายักษ์คู่โบราณที่มีอายุการสร้างยาวนานมาแล้วกว่า 200 ปี

จัดสร้างขึ้นตามพระราชดําริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระองค์ทรงโปรดให้ปั้นขึ้นประดิษฐานไว้ที่บริเวณหน้าประตูซุ้มยอดมงกุฎ ทางเข้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามด้านทิศตะวันออก โดยทรงโปรดให้ หลวงเทพกัน ช่างปั้นฝีมือดีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในยุคนั้นเป็นผู้ปั้น

ยักษ์วัดแจ้ง

หลวงเทพกันและทีมงานช่างปั้นหลวงฝีมือดี ได้ร่วมกันรังสรรค์ปั้นพญายักษ์ตามพระกระแสรับสั่ง โดยปั้นออกมาเป็นพญายักษ์คู่ตามศิลปะไทยโบราณ ลักษณะเป็นรูปพญายักษ์ยืน 2 ตน มือทั้งสองกุมกระบอง ตั้งอยู่บนแท่นสูงประมาณ 3 วา มีลักษณะสง่าน่าเกรงขาม งดงามวิจิตรตระการตา ดั่งพญายักษ์คู่นี้มีชีวิตจริง

ทศกัณฐ์

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระราชทานนามให้แก่พญายักษ์ทั้งสอง โดยพญายักษ์ที่ยืนอยู่ทางด้านทิศเหนือ มีกายสีขาวพระราชทานนามว่า สหัสเดชะ ส่วนพญายักษ์ที่ยืนอยู่ทางด้านทิศใต้ มีกายสีเขียวพระราชทานนามว่า ทศกัณฐ์ เป็นรูปปั้นพญายักษ์ที่มากด้วยตบะบารมี ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่เริ่มสร้าง เป็นที่เคารพบูชาของพี่น้องประชาชนตั้งแต่นั้นเรื่อยมา

สหัสเดชะ

ต่อมาในสมัยของพระเดชพระคุณ พระพิมลธรรม(นาค สุมนนาโค) อดีตเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม รูปที่ 10 สุดยอดพระเกจิอาจารย์ผู้เรืองวิทยาคม ผู้เป็นต้นตำหรับการสร้างตะกรุดหนังหน้าผากเสือวัดอรุณอันโด่งดัง ตะกรุดหนังหน้าผากเสือของท่าน เป็นที่เสาะแสวงหาต้องการมีไว้บูชาของผู้เคารพศรัทธาในองค์หลวงปู่นาคเป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่ครั้งอดีตจนถึงยุคปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2473 ได้เกิดฝนตกหนัก มีอสุนีบาตตกถูกพญายักษ์หน้าพระอุโบสถด้านทิศเหนือ คือ สหัสเดชะ พังลงมา พระเดชพระคุณหลวงปู่นาค ท่านจึงได้บอกบุญเรี่ยไรแก่พี่น้องประชาชนในย่านนั้น ร่วมกันสร้างขึ้นใหม่ แล้วทำพิธีสมโภชเบิกเนตรเพิ่มพลังให้แก่พญายักษ์ทั้งสองตนนี้ ให้เป็นพญาแห่งยักษ์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ มีความสวยสง่างามดั่งที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน และยังได้ผ่านการทำพิธีเบิกเนตรสมโภชถูกต้องตามประเพณีโบราณ ได้รับการเพิ่มพลังบารมีแก่พญายักษ์คู่โบราณทั้งสองตนนี้ โดยสุดยอดพระเกจิอาจารย์ผู้เรืองวิทยาคมแห่งยุค ผู้เป็นต้นตำหรับการสร้างตะกรุดหนังหน้าผากเสือวัดอรุณ คือ พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระพิมลธรรม(นาค สุมนนาโค) อดีตเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม

จึงทำให้ ยักษ์วัดแจ้ง พญายักษ์คู่โบราณแห่งวัดอรุณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาคู่นี้ เป็นพญาแห่งยักษ์ทั้งปวง เป็นพญายักษ์ที่มีประวัติความเป็นมาที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย เป็นพญาแห่งยักษ์ที่มีผู้เคารพศรัทธามาตั้งแต่ครั้งโบราณจนถึงในยุคปัจจุบัน มีความเชื่อกันว่าหากผู้ใดได้มาสักการะบูชา ยักษ์วัดแจ้ง พญาแห่งยักษ์คู่นี้แล้ว จะมีความสุขสมหวังในชีวิตคู่ มีโชคลาภ มีความสำเร็จในหน้าที่การงาน ชีวิตจะพบแต่ความสุขความเจริญ