ไลฟ์สไตล์

อีกหนึ่งงานบุญสำคัญ 'ประเพณีสารทเดือนสิบ' ปี2566 เริ่ม30 ก.ย.-14 ต.ค.

อีกหนึ่งงานบุญสำคัญ 'ประเพณีสารทเดือนสิบ' ปี2566 เริ่ม30 ก.ย.-14 ต.ค.

26 ก.ย. 2566

อีกหนึ่งงานบุญประจำปีที่ไม่ควรพลาด กับ 'ประเพณีสารทเดือนสิบ' วัฒนธรรมความเชื่ออุทิศกุศลให้ผู้ล่วงลับ ปี 2566 เริ่มตั้งแต่ 30 ก.ย. -14 ต.ค.นี้

ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะในภาคใต้ถือเป็นงานบุญที่สำคัญ ตรงกับวันสิ้นเดือน 10 หรือ แรม 15 ค่ำ เดือน 10 ในปี 2566 นี้ วันทำบุญหนแรก ตรงกับ วันเสาร์ ที่ 30 กันยายน และการทำบุญหนหลัง ตรงกับวันเสาร์ ที่ 14 ตุลาคม 

ประเพณีสารทเดือนสิบ

สำหรับประเพณีสารท นั้น เชื่อกันว่า มีต้นกำเนิดมาจากพิธีของพราหมณ์ เมื่อชาวนาเก็บเกี่ยวรวงข้าวสาลีอันเป็นผลผลิตแรก จะนำมาทำเป็นข้าวมธุปายาสและสาคูเพื่อเลี้ยงพราหมณ์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในนา และเพื่อเป็นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไป ต่อมาเมื่อคนเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา จึงนำแนวคิดนี้มาปฏิบัติด้วย

ด้าน พระยาอนุมานราชธน นักปราชญืคนสำคัญ ได้เขียนไว้ในสารานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า การชิงเปรตที่ปฏิบัติกันในประเพณีสารทเดือนสิบนี้ มีลักษณะคล้ายกับการทิ้งกระจาดของจีน แต่การทิ้งกระจาดของจีนมีเป้าหมายตรงกับการตั้งเปรต-ชิงเปรตเพียงบางส่วนเท่านั้น

ประเพณีสารทเดือนสิบ

กล่าวคือการทิ้งกระจาดของจีนเป็นการทิ้งทานให้แก่พวกผีไม่มีญาติ ส่วนการชิงเปรตของไทยเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้ทั้งผี หรือ เปรต ที่เป็นญาติพี่น้องของตนเองและที่ไม่มีญาติด้วย นอกจากนี้วิธีการปฏิบัติในการทิ้งกระจาดและการชิงเปรตก็แตกต่างกันด้วย ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนได้ยืนยันว่าการชิงเปรตไม่เป็นความอัปมงคลแก่ผู้ชิงเปรตแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับถือว่าเป็นการทำบุญด้วยซ้ำไป เพราะชื่อว่าบุตรหลานของเปรตตนใดชิงได้ เปรตตนนั้นย่อมได้รับส่วนนั้น 

ในความเชื่อของทางภาคใต้ โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราช ที่ได้รับอิทธิพลด้านความเชื่อมาจากทางศาสนาพราหมณ์ โดยมีการผสมผสานกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาโดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเชื่อว่าได้รับการปล่อยตัวมาจากภูมินรกที่ตนต้องจองจำอยู่เนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยก่อไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยจะเริ่มปล่อยตัวจากภูมินรกในทุกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เพื่อมายังโลกมนุษย์ มีจุดประสงค์เพื่อให้มาขอส่วนบุญส่วนกุศลจากลูกหลานญาติพี่น้องที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้ เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังภูมินรก ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10

ประเพณีสารทเดือนสิบ

ความเชื่อของคนโบราณในแถบภูมิภาคนี้ ถือว่าเป็นเวลาที่วิญญาณกลับจากนรก ญาติพี่น้องจึงควรทำบุญ เพื่อแผ่ส่วนกุศลไปให้ ถ้าผู้ล่วงลับได้รับส่วนบุญได้อิ่มท้องก็จะให้พร ถ้าไม่มีใครทำบุญไปให้ก็จะเสียใจบางทีอาจโกรธและสาปแช่ง จนถือเป็นวันรวมญาติ วันบูชาบรรพบุรุษ ใครไม่ร่วมจะโดนดูถูกว่าอกตัญญู

 

ประเพณีสารทเดือนสิบ

สำหรับการทำบุญหนแรก เรียกว่า การจัดหฺมฺรับ หรือวันรับตายาย ตรงกับวันแรม 14 ค่ำเดือนสิบ แต่ละครอบครัวจะร่วมกันนำข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ มาจัดเป็นหฺมฺรับ การจัดหฺมฺรับนั้น ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน จะจัดเป็นรูปแบบใดก็ได้ แต่ลำดับการจัดของลงหฺมฺรับจะเหมือน ๆ กัน คือ เริ่มต้นจะนำกระบุง กระจาด ถาดหรือกะละมังมาเป็นภาชนะ แล้วรองก้นด้วยข้าวสาร ตามด้วยกระเทียม พริก เกลือ น้ำตาล และเครื่องปรุงอาหารที่จำเป็น

ประเพณีสารทเดือนสิบ

ต่อไปก็ใส่ของจำพวกอาหารแห้ง เช่น ปลาเค็ม ผักผลไม้ที่เก็บไว้ได้นาน เช่น ฟักทอง มะพร้าว ขมิ้น ลางสาด เงาะ ลองกอง ข่า ตะไคร้ ฯลฯ จากนั้นก็ใส่ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำมันมะพร้าว ไม้ขีด หม้อ กระทะ ถ้วยชาม เข็ม-ด้าย และเครื่องเชี่ยนหมาก สุดท้ายใส่สิ่งที่สำคัญที่สุดของหฺมฺรับ คือ ขนม 5 อย่าง ซึ่งขนมแต่ละอย่างล้วนมีความหมายที่แต่งต่างกันได้แก่ ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพ สำหรับผู้ล่วงลับใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ ขนมลา แทนเครื่องนุ่งห่ม ขนมกงหรือขนมไข่ปลา แทนเครื่องประดับ ขนมดีซำ แทนเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย ขนมบ้า แทนสะบ้าใช้เล่น ในกรณีที่มีขนม 6 อย่าง จะเพิ่มขนมลาลอยมัน ซึ่งใช้แทนฟูกหมอน

ประเพณีสารทเดือนสิบ

ส่วนการยกหฺมฺรับนั้น ในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ ซึ่งเป็นวันยกหมฺรับ ต่างก็จะนำหมฺรับพร้อมภัตตาหารไปวัด โดยแต่ละคนจะแต่งตัวอย่างสะอาดและสวยงาม เพราะถือเป็นการทำบุญครั้งสำคัญ วัดที่ไปมักจะเป็นวัดใกล้บ้านหรือการยกหฺมฺรับไปวัดอาจต่างครอบครัวต่างไปหรืออาจจัดเป็นขบวนแห่ ทั้งนี้เพื่อต้องการความสนุก วัดบางแห่งอาจจะจัดให้มีการประกวด หฺมฺรับในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้นจะจัดให้มีขบวนแห่หมฺรับอย่างยิ่งใหญ่ตระการตาในงานเดือนสิบของทุกปี เมื่อขบวนแห่หฺมฺรับมาถึงวัดแล้ว ก็จะร่วมกันถวายภัตตาหารแก่ภิกษุสงฆ์ เสร็จแล้วจะร่วมกัน "ตั้งเปรต" เพื่อแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ในอดีตมักตั้งเปรตบริเวณโคนต้นไม้หรือบริเวณกำแพงวัด แต่ปัจจุบันนิยมตั้งบน "หลาเปรต" หรือร้านเปรต โดยอาหารที่จะตั้งนั้นจะเป็นขนม 5 อย่างหรือ 6 อย่างดังกล่าวข้างต้น รวมถึงอาหารอื่น ๆ ที่บรรพชนชื่นชอบ เมื่อตั้งเปรตเสร็จพระสงฆ์จะสวดบังสุกุล โดยจับสายสิญจน์ที่ผูกไว้กับหลาเปรต เมื่อพิธีสงฆ์เสร็จสิ้น ผู้คนจะร่วมกัน "ชิงเปรต" โดยการแย่งชิงอาหารบนหลาเปรต ทั้งนี้นอกจากเพื่อความสนุกสนานแล้วยังมีความเชื่อว่า หากใครได้กินอาหารบนหลาเปรตจะได้รับกุศลแรง เป็นศิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
ชิงเปรต เป็นประเพณีของภาคใต้ที่ทำกันในวันสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีเมืองมนุษย์ 15 วัน โดยมาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็นวัน "รับเปรต" หรือ วันสารทเล็ก ลูกหลานต้องเตรียมขนมมาเลี้ยงดูให้อิ่มหมีพีมันและฝากกลับเมืองเปรต ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 นั้นคือวัน " ส่งเปรต " กลับคืนเมือง เรียกกันว่า วันสารทใหญ่

ประเพณีการชิงเปรตนั้น หลังจากที่ได้วางเครื่องเซ่นให้แก่เปรตแล้ว โดยเชื่อว่าหลังจากเปรตอิ่มหน่ำจากเครื่องเซ่นที่วางไว้ให้แล้ว ก็จะทำพิธีเสสัง ลาเครื่องเซ่นไหว้เปรต ผู้ร่วมงานก็จะแย่งชิงเครื่องเซ่นไหว้กัน โดยเชื่อว่าเป็นของเดนชาน เมื่อกินแล้วเชื่อว่าเป็นมงคล อีกทั้งเป็นการช่วยให้เปรตได้ทำบุญทำทานอีกต่อ จากเครื่องเซ่นไหว้เหล่านี้ที่เปรตได้กินแล้ว ให้เป็นบุญแก่ผู้ยังมีชีวิตอยู่อีกต่อหนึ่งด้วย