เปิดตำนาน ยันต์ดวงพิชัยสงคราม ของสูงแต่โบราณ
ศึกษาตำนานความเชื่อ แห่ง พระยันต์ชั้นสูง 'ยันต์ดวงพิชัยสงคราม' รวมมนต์สรรพมงคลทั้งปวง คุ้มครองเจ้าของดวงชะตา
พระมนต์ดีแต่โบราณใช้ว่าเสก
ร่ายพระเวทย์ผูกชะตาประสานส่ง
องค์กษัตริย์เจ้าฟ้าต่างชอบชม
ผูกผสานดวงพิชัยชนะทุกวาร.
แต่โบราณนานมานั้น การประกอบพิธีหนึ่งที่มีความสำคัญต่อชนชั้นปกครอง นั่นคือ การผูกดวงชะตา เป็นดวงพิชัยสงคราม เรียกว่า ยันต์พิชัยสงคราม ซึ่งตามข้อมูลนั้นกล่าวไว้ว่าเป็นดวงชะตาที่มีความสำคัญมากในระบบโหราศาสตร์ไทย เพราะเป็นดวงที่ผ่านการคำนวณ อย่างละเอียด พิถีพิถัน ตามกฏเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ คัมภีร์มานัตต์ ซึ่งเป็นคัมภีร์หลักในวิชาโหราศาสตร์ ภายในดวงพิชัยสงครามมีการแจ้งเลขเกณฑ์อันเป็นผลที่ได้จากการคำนวณในแต่ละขั้นตอน ของคัมภีร์ไว้ในตาราง เช่น ตำแหน่งดาวพระเคราะห์ สมผุส ฤกษ์ และมัธยมพระเคราะห์ ตลอดจนอัตตา เกณฑ์การคำนวณต่างๆ ที่สำคัญ
การจะผูกยันต์พิชัยสงครามขึ้นมานั้น แต่ละดวงชะตานั้นแตกต่างกัน ต้องผ่านการคำนวณดวงชะตา ผ่าน วัน เดือน ปีเกิดของเจ้าชะตา และการผูกยันต์มหามงคลนี้ ต้องทำการประกอบพิธีกรรมทั้งพราหมณ์ พุทธ เพื่อเพิ่มพลังทางความเชื่อให้เข้มแข็ง เพิ่มพูน
แต่โบราณการผูกพระยันต์สำคัญนี้ จะกระทำในการรณรงค์สงคตราม เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ให้ทหารหาญ แม่ทัพแห่งกองพล อันได้แก่ พระมหากษัตริย์ ดวงพิชัยสงครามนี้ มีความหมายว่า "ดวงชนะศึก" ในสมัยก่อนนั้นผู้ที่จะมีดวงพิชัยสงคราม จะต้องเป็นบุคคลระดับชั้นแม่ทัพ นายกอง หรือเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ขึ้นไป ตลอดจนพระมหากษัตริย์ เพราะสมัยนั้นเรื่องโหราศาสตร์เป็นเรื่องในรั้วในวังเท่านั้น การคำนวณดวงพิชัยสงครามตามกฏเกณฑ์ ซับซ้อน และใช้เวลามาก จึงยากที่ชาวบ้านสามัญชนคนธรรมดาทั่วไป จะมีดวงพิชัยสงครามไว้บูชา
หากดูกันเผิน ๆ จะเห็นว่ามีลักษณะเหมือนยันต์อันศักดิ์สิทธ์ทางไสยศาสตร์ เนื่องจากพฤฒาโหราจารย์ผู้แตกฉานเชี่ยวชาญในศาสตร์ ทั้งสามคือ พุทธศาสตร์ ไสยศาสตร์ และ โหราศาสตร์ ได้กำหนดรูปดวงชะตานี้ขึ้น โดยการนำเอาพุทธมนต์มาชัยเป็นพระคาถากำบังดวงชะตาไว้ 8 ทิศ และชักรูปมหายันต์ไว้ภายใน สำหรับบรรจุพระเคราะห์ทั้งหลายที่คำนวณขึ้น ตามสูตรพระคัมภีร์สุริยาตร์
ส่วนประกอบหลักของยันต์ดวงพิชัยสงคราม
รูปแบบยันต์พิชัยสงคราม มีหลายรูปแบบ อาจขึ้นอยู่กับสำนักและครูบาอาจารย์ โดยรวมพอสรุปเป็นรูปแบบมาตรฐาน หรือองค์ประกอบที่คล้ายๆกัน ได้ดังนี้
1. ด้านบนสุดของยันต์พิชัยสงคราม จะเป็นพระพุทธฉาย (รูปพระ)
2. ใต้พระพุทธฉาย เป็น ยันต์พิชัยสงคราม ยันต์พระอิติปิโสย่างตาม้า ตรงกลางยันต์บรรจุ ดวงราศีจักร พร้อมลัคนากำเนิดเจ้าของดวงชะตา ทิศแม่ธาตุทั้งสี่ของยันต์พิชัยสงคราม จะมีคาถา นะ มะ พะ ทะ อันได้แก่ทวารทั้งสี่คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ปิดไว้ ส่วนตามมุมต่างๆ ทั้ง 16 ช่องของดวงพิชัยสงคราม ก็ได้บรรจุพระคาถาพระเจ้าสิบหกทิศ หรือพระคาถาอื่นๆ ปิดไว้ทุกช่อง
3. ใต้ยันต์พิชัยสงคราม จัดเป็นยันต์รูปบัลลังก์ หรือตารางลดหลั่นกันลงมา 5 ชั้น ภายในบรรจุ สมผุสพระเคราะห์ ฤกษ์ และมัธยมพระเคราะห์ ตลอดจนอัตตา เกณฑ์การคำนวณต่างๆ โดยคำนวณตามคัมภีร์สุริยยาตร์ คัมภีร์มานัตต์
4. ด้านซ้ายและขวายันต์รูปบัลลังก์ เป็นหลัก อินทภาส บาทจันทร์ โดยด้านซ้ายเป็นหลักอินทภาส ด้านขวาของยันต์เป็นหลักบาทจันทร์ ซึ่งหลักทั้งสองนี้โบราณยกย่องว่ามีความสำคัญสูงท่านจึง ให้สถิตย์ภายใต้เศวตฉัตร
5. กรอบนอกของดวงพิชัยสงครามได้บรรจุ สิ่งศักสิทธิ์ป้องกันภัยพิบัติไว้ทั้งแปดทิศด้วยกันซึ่งก็ คือ ยันต์พระคาถาอิติปิโสแปดทิศ เป็นต้น
ทิศตะวันออก : กระทู้ 7 แบกอิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา
ทิศอาคเณย์ : ฝนแสนห่าติ หัง จะ โต โร ถิ นัง
ทิศทักษิณ : นารายณ์เกลื่อนสมุทรปิ สัม ระ โล ปุ สัต พุท
ทิศหรดี : นารายณ์ถอดจักร์โส มา ณะ กะ ริ ถา โธ
ทิศประจิม : นารายณ์ขว้างจักร์ตรึงไตรภพภะ สัม สัม วิ สะ เท ภะ
ทิศพายัพ : นารายณ์พลิกแผ่นดินคะ พุท ปัน ทู ธัม วะ คะ
ทิศอุดร : ตวาดฟ้าป่าหิมพานต์วา โธ โน อะ มะ มะ วา
ทิศอีสาน : นารายณ์แปลงรูปอะ วิ สุ นุต สา นุส ติ
6. นอกจากพระคาถาดังกล่าวแล้ว ในดวงพิชัยสงครามยังอาจจะบรรจุพระคาถา หรือยันต์ อื่นๆลงไปได้อีก เช่น พระนวหรคุณเก้า, หัวใจพระอภิธรรม หรือพระธรรมเจ็ดคัมภีร์, พุทธรักษา, ธรรมรักษา, สังฆรักษา, ปิตารักษาและอินทรักษา, พรหมรักษา, เทวดารักษา, มาตารักษา เป็นต้น ขึ้นอยู่กับแบบฉบับของแต่ละสำนักหรือครูบาอาจารย์