ศรัทธาสายมู

“ลัทธิงู” หรือ ลัทธิการ “บูชางู” คืออะไร?

“ลัทธิงู” หรือ ลัทธิการ “บูชางู” คืออะไร?

22 มิ.ย. 2567

ไขคำตอบเกี่ยวกับ “ลัทธิงู” หรือ ลัทธิการ “บูชางู” ที่ล้วนถูกกล่าวถึงในศาสนา พุทธ พราหมณ์ ฮินดู กับความเชื่อเรื่องพลังอำนาจวิเศษของ “งู”

กลายเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถาม ว่า ลัทธิงู คืออะไร และความเชื่อเรื่อง ลัทธิงู นั้น เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ จากเหตุ น.ส.รัศมี อายุ 26 ปี ชาว จ.มหาสารคาม ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง ด้วยการผูกคอ บนต้นไม้ บริเวณแคมป์คนงาน ตั้งอยู่ถนนไทรน้อย-วัดต้นเชือก ต.บ้านใหม่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี  

 

โดยคนใกล้ชิดบอกว่าเธอคลั่ง ลัทธิงู จนกลายเป็นคนเสียสติ จึงต้องออกจากงาน

 

คมชัดลึกออนไลน์ ชวนมาทำความเข้าใจ ความเชื่อเกี่ยวกับ งู รวมถึง พญานาค ที่ถูกต้อง ดังนี้

โดย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ เคยเผยแพร่เกี่ยวกับ เนื้อหาการสัมภาษณ์ หมอโอม ถอดรหัสชีวิต เกี่ยวกับ ความเชื่อ เรื่อง งู หรือ Nagas รวมถึง พญานาค เอาไว้ว่า

 

“ทั้งใน ศาสนาพุทธ พราหมณ์ และฮินดู ล้วนแล้วแต่มีการกล่าวถึงว่า งู เป็นเสมือนตัวกลางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับโลกอีกมิติหนึ่ง

 

ในทางพระพุทธศาสนา กล่าวถึง งูใหญ่ คนไทยอาจรวมหมายถึง พญานาค ซึ่งได้มีการกล่าวถึงเอาไว้มากมาย โดยเฉพาะช่วงที่องค์พระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าบรรลุสัมโพธิญาณ

 

ความเชื่อ เรื่องพลังอำนาจวิเศษของ งู นั้น ทำให้เกิด ลัทธิ การ บูชางู ว่าหาก บูชางู ด้วยความเคารพ จะนำมาซึ่งความคุ้มครองรวมถึงความมั่งคั่งร่ำรวย

 

ความศรัทธาในการ บูชางู มีหลากหลาย อาทิ บูชาด้วยน้ำ , นม , เครื่องหอม และ ทรัพย์สินเงินทองที่มีค่า 

 

ชาวกาสีรัฐเมฆาลัยในอินเดียนั้น มีการ บูชางู ด้วยเลือดของมนุษย์ แล้วจะนำมาซึ่งความร่ำรวย

 

หากเรามาวิเคราะห์ในเชิงปรัชญา งู นั้นเป็นสัตว์ที่มีนิสัยโทสจริตสูงโดยสัญชาติญาณ เป็นหนึ่งในจิตแน่วแน่ทางอกุศลมูล หากเทียบในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน 

 

งู เป็นหนึ่งในสัตว์ภวจักร ที่ก่อให้เกิดสังสารวัฎ หรือ วังวนแห่งการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลกหรือในภพต่าง ๆ จึงไม่แปลกใจเลยว่าทั่วทุกมุมโลกจะมี ความเชื่อในเรื่องของ งู และ พญานาค ในบ้านเรา

 

เพราะ งู นั้นสามารถพบได้ทั่วโลก เป็นสัตว์ที่มีนิสัยเฉพาะที่โดดเด่น แม้ความเชื่อจะมีความแตกต่างกันไปบ้าง

 

สืบเนื่องเริ่มต้นของการบูชา เกิดจากความกลัว และความต้องการในอำนาจวิเศษ เพื่อให้เกิดความสำเร็จตามที่ตนเองปรารถนา

 

ความศรัทธาที่จะบูชาสิ่งใดนั้น หากอยู่ในกฎเกณฑ์ ไม่ขัดต่อหลักสังคมประเพณี ไม่ทำให้ผู้อื่นวุ่นวายเดือดร้อน ก็สามารถพึงกระทำได้

 

หากศรัทธาแล้วเกิดปัญญา มีความสุขกายสบายใจ ไม่เบียดเบียนผู้ใดก็คงถือว่าไม่ได้ผิดอะไร” หมอโอม กล่าว

 

ดังนั้น กรณีของสาววัย 26 ปี ที่จบชีวิตตัวเอง โดยอ้างว่าพ่อแม่ที่เสียชีวิตจะมารับนั้น น่าจะเกิดจากความเชื่อแบบผิดๆ หรือคิดไปเอง และไม่เกี่ยวข้องกับการ บูชางู แต่อย่างใด

 

ข้อมูลจาก : กรุงเทพธุรกิจ