คอลัมนิสต์

เอาไม่อยู่ "พลังประชารัฐ" ร้อยซุ้มพันก๊ก รออวสาน

เอาไม่อยู่ "พลังประชารัฐ" ร้อยซุ้มพันก๊ก รออวสาน

18 ก.ย. 2564

ผลข้างเคียง "พลังประชารัฐ" ป่วยไข้ไม่จบ ส.ส.ร้อยซุ้มพันก๊กป่วน แถม"2 ป."ร้าวลึก ซ้ำเติมเอกภาพพรรค คอลัมน์ .. ท่องยุทธภพ โดย .. ขุนน้ำหมึก

ธรรมนัสเอฟเฟกต์ยังไม่จบ "พลังประชารัฐ" กลายเป็นพรรคอมโรค ส.ส.ส่วนใหญ่ออกอาการถอดใจ แถมมีส่วนให้เกิด "สภาล่ม" ถึงสองหนซ้อน 

 

แม้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค จะสั่งให้ยุบก๊วนก๊ก สร้าง "พลังประชารัฐ" ให้เป็นหนึ่งเดียว แต่ก็ยังเห็นรอยปริร้าวภายในพรรค

 

นับแต่วันก่อตั้ง "พลังประชารัฐ" ก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นพรรคเฉพาะกิจ ไม่ต่างจากพรรคสหประชาไทย หรือพรรคสามัคคีธรรม มาถึงวันนี้ พลังประชารัฐ กำลังเข้าสู่โหมดพลังประชาเละ

 

วันที่ 17 ก.ย.2564 ที่ประชุมรัฐสภา พิจารณาร่าง พ.ร.บ การศึกษาแห่งชาติ เป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ซึ่ง ส.ว.บางส่วน และ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ก็อยู่ในห้องประชุม แต่ไม่แสดงตัว สุดท้ายสภาล่ม

 

ว่ากันว่า แกนนำพรรคพลังประชารัฐบางคน ใส่เกียร์ว่าง เล่นเกมใต้ดินเขย่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

 

อ่านข่าวที่น่าสนใจ

 

"ซุ้มประวิตร"

พลันที่ "บิ๊กป้อม" ประมุข "พลังประชารัฐ" ประกาศไม่ปรับโครงสร้างพรรค และยังให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อยู่ในตำแหน่งเลขาธิการพรรค ตามมาด้วยการตั้ง พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค ความอึมครึมก็ตามมา

 

วันนี้ของ "ธรรมนัส" ก็ไม่เหมือนเดิม จากที่เคยคุยว่า มี ส.ส.พลังประชารัฐ อยู่ในมือมากกว่า 40 คน แต่พอหัวโขนรัฐมนตรีหลุด ก็เหลือ ส.ส.ที่ยังเดินตาม 11 คน แยกเป็น ส.ส.เหนือ 7คน และ ส.ส.อีสาน 4 คน

 

วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานวิปรัฐบาล มี ส.ส.เขตในครอบครัวอีก 4 คน รวมเป็น 5 คน ซึ่งวิรัช กำลังเผชิญวิบากเรื่องสนามฟุตซอล อาจถึงต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.

 

ส.ส.ภาคใต้ 14 คน ส่วนใหญ่เป็น "ส.ส.นกแล" ไม่มีเอกภาพ ไม่มีผู้ดูแลเป็นเรื่องเป็นราว มักถูกดึงไปซุ้มโน้นซุ้มนี้ ล่าสุด "บิ๊กป้อม" เรียกเข้าพบที่บ้านป่ารอยต่อฯ เพื่อเคลียร์ปัญหาคาใจ

 

นอกจากนี้ ส.ส.ภาคกลาง ประมาณ 7-8 คนที่กระจัดกระจายอยู่ในหลายจังหวัด ก็จะมาขึ้นตรงกับบ้านป่ารอยต่อ 

 

 

"ซุ้มประยุทธ์"

วันที่ "พลังประชารัฐ" เผชิญวิกฤตการเมืองในพรรค กลุ่มก๊วนที่ไม่เอา "ธรรมนัส" ได้ไหลรวมไปหนุนหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 

 

อย่างเช่นกลุ่ม "มังกรน้ำเค็ม" สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ผนึกกำลังกลุ่มเมืองมะขามหวานของ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ออกแรงดึง ส.ส.นกแลประมาณ 20 กว่าคน ให้มาอยู่ข้างนายกรัฐมนตรี

 

"เสี่ยเฮ้ง" อาจมี ส.ส.ในสังกัดไม่มาก แต่ก็อาศัยการทำงานจริงจัง เข้าตา พล.อ.ประยุทธ์ และช่วงหลัง จะสังเกตเห็นเสี่ยเฮ้ง กลายเป็นเงานายกฯ

 

กลุ่มสามมิตร นำโดยสมศักดิ์ เทพสุทิน, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และอนุชา นาคาศัย มีกำลังอยู่ในมือประมาณ 14-15 คน รวมกับกลุ่มกำแพงเพชรของ วราเทพ รัตนากร

 

ด้วยความเก๋าของสมศักดิ์ จึงเก็บอาการได้ ในวันที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรค สมศักดิ์ผู้เจบจบเรื่องการย้ายพรรค ย่อมรู้ดีว่า อนาคตของสามมิตร จะไปทางไหน

 

กลุ่มเมืองสิงห์ นำโดย ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็รวบรวม ส.ส.ภาคกลาง และ ส.ส.กทม. ไว้ในมือได้จำนวนหนึ่ง 

 

กลุ่มเหนือตอนล่าง ของ หิมาลัย ผิวพรรณ มี ส.ส.นครสวรรค์ ,พิษณุโลก และพิจิตร 3 คน ซึ่งเดิมทีคนเข้าใจว่า ส.ส.กลุ่มนี้อยู่กับธรรมนัส แต่จริงๆแล้ว หิมาลัยนั้นยืนข้างนายกฯ 

 

กลุ่มตะวันตก ได้แก่ ส.ส.กาญจนบุรี 4 คนคือ พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์,สมเกียรติ วอนเพียร, ธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ และอัฏฐพล โพธพิพิธ ก็ถูกดึงมาอยู่ฝั่งทำเนียบรัฐบาล

 

ส่วนกลุ่มบ้านใหญ่ อย่างสมุทรปราการ, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว ไม่ได้ไปสังกัดซุ้มใหญ่ ต่างมีอิสระในการเคลื่อนไหว แต่ในวิกฤตพลังประชารัฐครั้งที่แล้ว กลุ่ม ส.ส.บ้านใหญ่ เลือกข้าง พล.อ.ประยุทธ์

 

พลังประชารัฐในวันที่ "2 ป." ไม่แนบแน่นเหมือนเก่า ส.ส.จึงรู้สึกเคว้งคว้าง และบางกลุ่มได้เตรียมทางหนีทีไล่ไว้แล้ว หากยุบสภา พลังประชารัฐ ก็มีสภาพไม่ต่างจากผึ้งแตกรัง