'เงินดิจิทัล' ประชานิยมเพื่อไทย วาดฝันกวาดคะแนนเลือกตั้ง66
การหาเสียงเลือกตั้ง 2566 ที่พรรคการเมืองกำลังแข่งขายนโยบายกันอย่างเข้มข้น แม้จะมีรายละเอียดแตกต่างกัน แต่ล้วนยึดโยงอยู่กับ "นโยบายประชานิยม" เช่น เพื่อไทยชูนโยบาย "กระเป๋าเงินดิจิทัล" ที่เป็นทีเด็ดให้ประชาชนตัดสินใจกาทั้งคนทั้งพรรคตามเป้าหมายแลนด์สไลด์
พรรคเพื่อไทยปล่อยหมัดเด็ดนโยบาย "กระเป๋าเงินดิจิทัล" ในการหาเสียงเลือกตั้ง 2566 ซึ่งทุกพรรคการเมืองกำลังเดินหน้าขายนโยบายหาเสียงกันอย่างเข้มข้น หวังให้ประชาชนตัดสินใจเทคะแนนเลือกทั้งพรรคและผู้สมัครของตัวเอง โดยรวมแล้วนโยบายส่วนใหญ่แตกต่างกันแค่รายละเอียด ทว่าล้วนยึดโยงอยู่กับคำว่า "นโยบายประชานิยม"
ประชานิยมถูกนำมาเป็นนโยบายกระแสหลักอย่างเป็นกิจจะลักษณะและปักธงในสนามการเลือกตั้งตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทย ที่นำโดย "ทักษิณ ชินวัตร" ในปี 2544 ซึ่งไม่ได้มาจากความคิดของทักษิณคนเดียว แต่เป็นการตกผลึกร่วมกันของนักวิชาการหรือกลุ่มเทคโนแครต ซึ่งล้วนเป็น Think Tank (ทีมมันสมอง) ที่ได้รับความยอมรับจากสังคมในเวลานั้น
ประชานิยมต้นฉบับเพื่อไทยไม่เคยแพ้เลือกตั้ง
ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมา การทำนโยบายของพรรคไทยรักไทย ถือว่าได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการนำทรัพยากรของรัฐที่ถูกรวบไว้ที่ส่วนกลางมาใส่มือให้กับประชาชนโดยตรง
นั่นก็คือไม่ต้องผ่านกระบวนการทางราชการหลายขั้นตอนเหมือนที่ผ่านมา อันเป็นที่มาของนโยบายที่เป็นเสาหลักของพรรคและรัฐบาลทักษิณ ไม่ว่าจะเป็น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
นโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทยเมื่อการเลือกตั้งปี 2544 ได้พาให้ "ทักษิณ" เป็นหนึ่งในนายกรัฐมนตรีที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด และสามารถกวาด สส.ได้มากที่สุดในการเลือกตั้งทุกครั้งในเวลาถัดมา
แน่นอนว่าได้สร้างความเจ็บปวดกับคู่แข่งอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนับแต่นั้นเป็นต้นมาถึงวันนี้พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่เคยชนะการเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่งแม้แต่ครั้งเดียว
ตรงข้ามกับพรรคไทยรักไทยแม้จะถูกยุบจนกลายมาเป็นพรรคพลังประชาชนต่อด้วยพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน กลับได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งทุกครั้ง และสร้างนายกฯ ต่อจากทักษิณอีกถึง 3 คน
ถ้าในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ไม่มีเงื่อนไขให้ สว.ลงมติเลือกนายกฯ ด้วย เวลานั้นย่อมมีความเป็นไปได้สูงพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคการเมืองที่ได้ สส.มากที่สุดจะมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล
คสช.กับความพยายามคุมประชานิยม
ภายหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้พยายามออกแบบให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมีกลไกสำคัญ 2 ประการ เพื่อควบคุมการใช้งบประมาณของรัฐบาลในระยะยาว ประกอบด้วย 1. การป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว
2. การใช้จ่ายเงินของรัฐให้เป็นไปอย่างคุ้มค่า และตอบสนองต่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนโดยสอดคล้องกับสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ และกลไกการตรวจสอบและเปิดเผยการใช้จ่ายเงินของรัฐที่มีประสิทธิภาพ
แนวทางของ คสช.นอกจากจะได้รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงแล้ว ยังมีกฎหมายอีกสองฉบับที่เป็นผลมาจากการตีกรอบของ คสช.ด้วย ได้แก่ 1. พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และ 2. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
กฎหมายทั้งสองฉบับมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันในแง่ของการควบคุมการใช้งบประมาณแผ่นดิน โดย พ.ร.บ.วินัยการเงินฯ มุ่งเน้นการพยายามไม่ให้รัฐบาลหลังจากการเลือกตั้งสร้างหนี้จนกลายเป็นภาระทางการเงินการคลังให้กับประเทศมากเกินไป แต่ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ต้องการสร้างความผูกมัดให้กับพรรคการเมืองตั้งแต่ขั้นตอนของการหาเสียงว่าหากจะประกาศนโยบายหาเสียงเลือกตั้งต้องอธิบายรายละเอียดตามมาตรา 57 และ มาตรา 121
โดยกำหนดว่า นโยบายใดที่ต้องใช้จ่ายเงินอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้ (1) วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ดําเนินการ (2) ความคุ้มค่าและประโยชน์ (3) ผลกระทบและความเสี่ยง
ในกรณีพรรคการเมืองไม่ได้จัดทํารายการให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สั่งดําเนินการให้ครบถ้วนและถูกต้องภายในระยะเวลาที่กําหนด โดยหากไม่ดำเนินการตามมาตรา 57 จะมีโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และปรับอีกวันละ 1 หมื่นบาท ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม ความพยายามควบคุมนโยบายประชานิยมที่ คสช.หวังนั้นก็ไม่ได้ผล เพราะพรรคการเมืองหลายพรรคก็ยังเดินตามรอยประชานิยมของพรรคไทยรักไทย ไม่เว้นแม้แต่พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ หรือแม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ด้วย
การเลือกตั้งปี 2562 พรรคการเมืองใหญ่ต่างพยายามหาเสียงด้วยการชูนโยบายเพิ่มค่าแรง เช่น 400 - 425 บาทต่อวัน เงินเดือนคนจบปริญญาตรี 20,000 บาทต่อเดือนของพรรคพลังประชารัฐ หรือจบปริญญาตรีได้ 18,000 บาทต่อเดือน และค่าแรง 400 บาทต่อวัน
พรรคประชาธิปัตย์พยายามเลี่ยงด้วยการใช้คำว่าประกันรายได้ขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน รวมไปถึงการพยายามแข่งกันเสนอตัวเลขเงินสวัสดิการให้กับประชาชนผ่านรูปแบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งเวลานั้นเอง กกต.ก็ไม่ได้ลงมาควบคุมการโฆษณาหาเสียงของพรรคการเมือง โดยเฉพาะการซักถามถึงแหล่งที่มาของเงินในการดำเนินนโยบาย หลังจากแต่ละพรรคการเมืองระบุถึงแหล่งที่มาของเงินไปในทางเดียวกันว่ามาจากงบประมาณแผ่นดิน
‘เงินดิจิทัล’ เรื่องเพ้อฝันแต่เพื่อไทยชิงการนำ
มาถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ไม่แตกต่างกัน เพราะแต่ละพรรคยังคงแข่งกันชูนโยบายประชานิยมด้วยการเติมเงินใส่กระเป๋าประชาชน เพียงแต่ในกรณีของพรรคเพื่อไทยใช้การเมืองและการตลาดควบคู่กันได้อย่างหวือหวา
ล่าสุดสร้างความฮือฮาทั้งการตอบรับและเสียงต่อต้าน ภายหลังหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี "เศรษฐา ทวีสิน" ออกมาประกาศนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้กับประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
นโยบายนี้ของพรรคเพื่อไทยอาจถูกโจมตีว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน หรือทำไม่ได้จริง แต่ก็สามารถช่วงชิงพื้นที่สื่อไปได้เหนือกว่าพรรคการเมืองอื่นหลายขุม โดยที่ความเห็นทั้งด้านบวกและลบจากฝ่ายตรงข้าม รวมถึงนักวิชาการ กลับทำให้คำว่า "เศรษฐา ทวีสิน" กลายเป็นหนึ่งในคำที่ถูกค้นหามากที่สุดในเว็บไซต์กูเกิล ขณะที่สื่อหลายสำนักต่างก็เกาะกระแสแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ด้วยการให้พื้นที่ข่าวนโยบายเรื่องนี้กับอดีตซีอีโอจากแสนสิริอย่างต่อเนื่อง
เรียกได้ว่าพรรคเพื่อไทยมีโอกาสโปรโมทนโยบายหาเสียงได้ซ้ำๆ โดยไม่ต้องออกแรงและทุ่มเงินซื้อพื้นที่สื่อมากเหมือนเช่นในอดีต
ขณะที่การหาเสียงของพรรคการเมืองอื่นๆ กลับถูกมองในเชิงเปรียบเทียบและตั้งคำถามต่อวิธีการเรียกคะแนนที่ยังย่ำอยู่กับการชูนโยบายก้าวข้ามความขัดแย้ง หรือผลิตซ้ำวาทะกรรม "ความสงบ" มาเร่ขายแลกคะแนนนิยม ซึ่งมีการหยิบยกประเด็นนี้มาวิพากษ์วิจารณ์อยู่ไม่น้อย ในทำนองที่ว่า ประเทศควรได้รัฐบาลที่สามารถขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมากกว่าหรือไม่ และประเด็นนี้ก็ส่งผลให้กระแสแลนด์สไลด์เทไปยังพรรคเพื่อไทยที่ค่อนข้างโดดเด่นในเรื่องนโยบายการแก้ปัญหาปากท้อง
ขณะที่ความพยายามจะนำประเด็นนี้มาเล่นงานพรรคเพื่อไทยหรือเอาผิดก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากตามกฎหมาย กกต.ทำได้แค่การสั่งให้พรรคเพื่อไทยดำเนินการตามมาตรา 57 เท่านั้น โดยไม่มีอำนาจชี้ขาดว่าเพื่อไทยห้ามใช้นโยบายดังกล่าวหาเสียงได้อีกหรือไม่ รวมถึงไม่มีโทษถึงขั้นยุบพรรคการเมือง อีกทั้งไม่มีความผิดแม้กระทั่งในข้อหาสัญญาว่าจะให้ เนื่องจาก กกต.ออกมาระบุแล้วว่า นโยบายหาเสียงใดที่อาศัยงบประมาณแผ่นดินในการดำเนินการไม่มีความผิดตามกฎหมาย
นั่นเท่ากับปฏิเสธไม่ได้ว่าสมรภูมิเลือกตั้ง 66 ที่เริ่มเข้มข้นหลังการลงสมัครกันเรียบร้อยแล้ว พรรคเพื่อไทยสามารถชิงการนำพรรคอื่นๆ ไปได้หลายก้าวแล้ว เหลือแค่การเดินสู่เป้าหมาย "แลนด์สไลด์" ทั้งเขตทั้งพรรคได้ตามความคาดหวังหลังการหย่อนบัตร 14 พ.ค. 2566 หรือไม่เท่านั้น
เครดิตภาพ: เฟซบุ๊กเพจ เศรษฐา ทวีสิน - Srettha Thavisin