คอลัมนิสต์

ไฟใต้กับชินวัตร “แพทองธาร” เพลี่ยงพล้ำ “บีอาร์เอ็น” พิษคดีตากใบ

ไฟใต้กับชินวัตร “แพทองธาร” เพลี่ยงพล้ำ “บีอาร์เอ็น” พิษคดีตากใบ

23 ต.ค. 2567

21 ปี ไฟใต้ “แพทองธาร” เพลี่ยงพล้ำกรณีตากใบ “บีอาร์เอ็น” ขยับเปิด 2 แนวรบ รุกการเมืองประสานการทหาร

หนังเก่าฉายซ้ำ แพทองธาร ฝ่าพายุตากใบ ไฟใต้เสี่ยงลุกโชน บีอาร์เอ็นเปิด 2 แนวรบ รุกการเมืองประสานการทหาร

 

21 ปี สมรภูมิชายแดนใต้ บีอาร์เอ็นชนะทางการเมือง รัฐไทยเสียเปรียบในวงพูดคุยสันติภาพ ยิ่งคุยยิ่งเสียเปรียบ

 

ใกล้สิ้นสุดอายุความคดีตากใบ ในวันที่ 25 ต.ค.2567 อึงอลด้วยเสียงทวงถามการนำตัว 18 ผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการเพื่อดำเนินคดี 

 

รัฐบาลแพทองธาร และพรรคเพื่อไทย ปฏิเสธไม่ได้ที่จะได้รับแรงกระแทกจากคดีตากใบ เมื่อมีอดีต สส.บัญชีรายชื่อ เพื่อไทย เป็น 1 ใน 18 ผู้ต้องหา

 

จุดเริ่มต้นของคดีตากใบเกิดขึ้น ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และเป็นต้นเหตุแห่งสงครามชายแดนใต้ และกลับมาสุ่มเสี่ยง อ่อนไหวอีกครั้ง ในสมัยรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร

 

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม ยอมรับว่ามีความกังวลเรื่องคดีตากใบหมดอายุความ โดยนำผู้ต้องหามาดำเนินคดีไม่ได้ จะเป็นเงื่อนไขใหม่จุดไฟใต้ให้ลุกโชนอีกครั้ง

 

“เรื่องนี้เป็นเรื่องของความมั่นคงของรัฐไทย ไม่ใช่ความมั่นคงของรัฐบาล” ภูมิธรรมแนะให้แยกแยะ

 

พูดง่ายๆ รองนายกฯภูมิธรรม กำลังจะบอกว่า การแยกพิจารณากรณีตากใบแบบโดดๆ โดยละเลยต่อบริบทสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่เป็นจุดอ่อน เนื่องจากมองไม่เห็นการเคลื่อนไหวของบีอาร์เอ็น

 

สุรชาติ บำรุงสุข เป็นนักวิชาการด้านความมั่นคงคนเดียว ที่พูดถึงกรณีตากใบ และมองภาพรวมการก่อความไม่สงบของขบวนติดอาวุธในพื้นที่ ทั้งในมิติการเมืองและการทหาร

 

อาจารย์สุรชาติ เพิ่งให้สัมภาษณ์สื่อว่า “ฝากชมบีอาร์เอ็น เก่งมากที่หยิบคดีนี้(ตากใบ)ขึ้นมา เพราะวันนี้ บีอาร์เอ็นกับแนวร่วมในการเมืองไทย สามารถทำลายขวัญกำลังใจของคนทำงานในกองทัพภาคที่ 4 และคนทํางานในภาคใต้ ได้อย่างคิดไม่ถึง”

 

บีอาร์เอ็นวันนี้

 

4-5 ปีมานี้ สถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีแนวโน้มลดลง และนำไปสู่แผนการถอนกำลังทหารหลักออกจากพื้นที่

 

ต้นปี 2567 มีเรื่องใหญ่ในฝ่ายความมั่นคงไทย เมื่อมีเสียงคัดค้านการยอมรับ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” (JCPP) ของคณะพูดคุยสันติภาพของฝ่ายรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น

 

นัยว่า แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) ถูกผลักดันโดยเอ็นจีโอต่างประเทศ ที่ต้องการให้ผู้นำบีอาร์เอ็น ได้มีเวทีเปิดในชายแดนใต้

 

หากรัฐบาลไทยยอมทำตามเงื่อนไขในแผน JCPP  ก็เหมือนเปิดประตูบ้านรับผู้นำบีอาร์เอ็นเข้ามาทำกิจกรรมโดยเสรี ซึ่งต้องงดการดำเนินคดีชั่วคราว และคุ้มครองแกนนำเหล่านั้น

 

จากนั้นก็จะก้าวไปสู่ขั้นต่อไปคือ วางแนวทางหยุดยิง และสร้างกรรมการอีกชุดมาแสวงหารูปแบบการปกครอง

 

แหล่งข่าวในปัตตานีเปิดเผยว่า ผู้นำบีอาร์เอ็นรุ่นใหม่ ต่างจากรุ่นเก่าที่ไม่ได้วางเป้าหมายตายตัวว่า ปาตานีต้องเป็นรัฐเอกราช ซึ่งเฉพาะหน้าพวกเขาขอมี “ที่ยืน” และบทบาททางการเมือง


ชินวัตรกับไฟใต้

 

ตอนเริ่มจัดตั้งรัฐบาลแพทองธาร สุรชาติ บำรุงสุข ได้ส่งสัญญาณเตือน 10 ประเด็นความมั่นคงเฉพาะหน้า โดยเฉพาะกรณีไฟใต้

 

ช่างเป็นความบังเอิญที่น่ากลัวของไฟใต้ 3 ยุค ที่สุ่มเสี่ยง อ่อนไหว และเปราะบางที่สุดนั้น ล้วนเกิดขึ้นในรัฐบาลตระกูล “ชินวัตร”

 

นายกฯทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลไทยรักไทย

 

4 ม.ค. 2547 ปล้นปืนครั้งใหญ่ ปฐมบทไฟใต้รอบใหม่ และยืดเยื้อมา 21 ปี

 

นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รัฐบาลเพื่อไทย

 

ปี 2555 จ่ายเยียวยาเหยื่อไฟใต้สูงสุด 7.5 ล้าน เพื่อจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ

 

28 ก.พ.2556 เปิดโต๊ะพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็น และถูกวิจารณ์ว่า เป็นการทำให้ “บีอาร์เอ็น” มีตัวตนในเวทีนานาชาติ และยกสถานะกลุ่มติดอาวุธให้มีสถานะเทียบเท่ารัฐไทย

 

นายกฯแพทองธาร ชินวัตร รัฐบาลเพื่อไทย

 

คดีตากใบ จะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.นี้ โดยผู้กระทำความผิดลอยนวล มีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงครั้งใหม่