ส้มนำแดง “พิธา” นำทัพปักธง “อบจ.อุดรธานี” จับตากระแสสู้กระสุน
ดราม่าโพลส้มทิ้งห่างแดง “พิธา” ลุยสมรภูมิ “อบจ.อุดรธานี” ตลบหลังทัพหลวงเพื่อไทย “ทักษิณ” แคร์แดงกินส้ม
กระแสแรง พิธา บินลัดฟ้าลุยสมรภูมิ อบจ.อุดรธานี ตีฝ่าทัพหลวงทักษิณ ดราม่าอุดรโพล สีส้มทิ้งห่างสีแดงเท่าตัว
โค้งสุดท้าย พิธา วางแผนปักหลักอุดรฯ หาเสียงช่วยคณิศร ยึดเก้าอี้นายก อบจ.เป็นสนามแรก เป็นปฐมบทท้องถิ่นสีส้ม
หลัง ทักษิณ ชินวัตร ปิดการปราศรัยใหญ่ที่ทุ่งศรีเมือง อุดรธานี ก็ถึงคิวทัพใหญ่พรรคประชาชน ลุยหาเสียงโค้งสุดท้าย
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล บินกลับจากสหรัฐฯ เพื่อมาลงพื้นที่ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง คณิตศร ขุริรัง ผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี พรรคประชาชน ระหว่างวันที่ 15-17 พ.ย.2567
เริ่มจากเย็นวันที่ 15 พ.ย.นี้ พิธาและคณิศร ร่วมจัดกิจกรรมวันลอยกระทง ที่หนองประจักษ์ พร้อมกับกับชาวอุดรธานี
วันที่ 16 พ.ย.2567 จัดเวทีปราศรัยใหญ่ 3 เวที ได้แก่ อ.บ้านผือ , อ.หนองหาน และหนองประจักษ์ อ.เมือง
นอกจากอดีตหัวหน้าพิธา ก็ยังมี ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ,ชัยธวัช ตุลาธน และ พรรณิการ์ วานิช จะขึ้นเวทีปราศรัยใหญ่ด้วย
สนามนี้เป็นความหวังของพรรคประชาชน เพราะเชื่อมั่นในคนอุดรฯ ที่มีลักษณะพิเศษคือ รักความเป็นธรรม และรักประชาธิปไตย
10 กว่าปีที่แล้ว ชาวอุดรฯจำนวนไม่น้อย เลือกที่จะเป็นแดงอุดมการณ์ แต่วันนี้ พวกเขาผิดหวังพรรคเพื่อไทย จึงหันมาสวมเสื้อส้มเพิ่มมากขึ้น
ดราม่าอุดรโพล
ช่วงระหว่างนายใหญ่เหยียบแผ่นดินอุดรฯ มีการเผยแพร่ผลสำรวจประชาชนของ “อุดรโพล” พบว่า ร้อยละ 32.6 สนใจเลือกเบอร์ 1 คณิศร ขุริรัง รองลงมา ร้อยละ 15.2 เลือกเบอร์ 2 ศราวุธ เพชรพนมพร และร้อยละ 4.5 เลือกเบอร์ 3 ดนุช ตันเทอดทิตย์ ในขณะยังไม่ตัดสินใจ สูงถึงร้อยละ 47.9
มีข้อน่าสังเกต จำนวนผู้ถูกสอบถามยังไม่ตัดสินใจมากถึงร้อยละ 47.3 น่าจะเป็นตัวแปร และมีเรื่องคืนหมาหอนเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจทำให้ผลคะแนนจริงในวันเลือกตั้ง สวนทางกับผลอุดรโพล
ต่อมา ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี แถลงว่า โพลดังกล่าวไม่ได้จัดทำในนาม มรภ.อุดรธานี และคณะวิทยาการจัดการแต่อย่างใด
เสกสรร สายสีสด หัวหน้าหลักสูตรนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มรภ.อุดรธานี ให้สัมภาษณ์ว่า “อุดรโพล" เป็นกิจกรรมฝึกปฏิบัติของนักศึกษาสาขาวิชานิเทศศาสตร์ จึงไม่ได้ขออนุญาตทางมหาวิทยาลัย
จะว่าไปแล้ว โพลก็คือโพล เป็นเรื่องของกระแส และคนอุดรฯก็ทราบดีว่า พรรคสีส้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเขต อ.เมืองอุดรธานี และอำเภอใกล้เคียง
ดังจะเห็นได้จากผลการเลือกตั้ง สส.อุดรธานี เมื่อปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้ สส.เขต แต่คะแนน สส.บัญชีรายชื่อ ได้อันดับสอง 148,850 คะแนน ขณะที่ปี 2566 พรรคก้าวไกล ได้ 295,097 คะแนน
มิหนำซ้ำ พรรคก้าวไกล ยังได้ สส.เขต 1 ที่นั่งคือ “เคน” ณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ เขต 1 อ.เมืองอุดรธานี
พลังรากหญ้าสีส้ม
ช่วงปี 2563-2564 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะประธานคณะก้าวหน้า ได้ลุยสนามเลือกตั้งท้องถิ่นอุดรฯ ทั้งนายก อบจ. ,สมาชิกสภา อบจ. ,นายกเทศ มนตรี และนายก อบต.
ปี 2563 คณะก้าวหน้า ไม่ชนะเลือกตั้งนายก อบจ. แต่ก็ได้สมาชิกสภา อบจ.อุดรฯ 5 คน ประกอบด้วย
นฤมล โคตรสาขา (อ.เมืองอุดรฯ),จารุณี พิมเพ็ง (อ.เมืองอุดรฯ), นิคม ระชินลา (อ.เพ็ญ), สรัลภพ โพธิ์ทิพย์ (อ.สร้างคอม) และพิทักษ์ เหมือนสี (อ.ทุ่งฝน)
ปี 2564 คณะก้าวหน้า ประสบความสำเร็จ คว้าชัยได้นายกเทศมนตรีตำบล 5 แห่ง และนายก อบต. 9 แห่ง
ชัยชนะในระดับท้องถิ่นขนาดเล็ก สะท้อนว่า คนเสื้อแดง หรือสมาชิก นปช.อุดรฯ ในเขตอำเภอรอบนอก ที่มีลักษณะมวลชนเชิงอุดมการณ์ ได้หันมาสนับสนุนพรรคประชาชน กลายเป็นพลังส้มรากหญ้า
ดังนั้น แกนนำพรรคประชาชน จึงมีความมั่นใจว่า ทนายแห้ว-คณิศร จะได้รับการเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.คนแรก ในหน้าประวัติศาสตร์ค่ายสีส้ม