หลานกิมก่าย “อุรุยศ” เสื้อส้มลุย “อบจ.หนองคาย” ชนบ้านใหญ่สายลุงป้อม
ทิม-เท้ง ต้อนรับบ้านใหญ่ “อุรุยศ เอียสกุล” หลานกิมก่าย ลุย “อบจ.หนองคาย” ชน “ยุทธนา” สายตรงลุงป้อม
บ้านใหญ่มาแล้ว อุรุยศ เอียสกุล สวมเสื้อส้มลุย อบจ.หนองคาย ปะทะแชมป์เก่า ยุทธนา ศรีตะบุตร สายตรงบ้านป่ารอยต่อฯ
ตระกูลเอียสกุลหายไป 14-15 ปี อุรุยศ หลานกิมก่าย เพิ่งกลับมานั่งนายกเล็ก หวังกระแสส้มยึด อบจ.หนองคาย
ผลการเลือกตั้ง นายก อบจ.อุดรธานี ในวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย.2567 ไม่ว่าพรรคส้มจะชนะหรือแพ้ ย่อมส่งผลสะเทือนถึงเมืองหนองคาย
เมื่อพรรคประชาชน เปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ.หนองคาย ชื่อ “อุรุยศ เอียสกุล” ซึ่งปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองหนองคาย
พลันที่เปิดชื่อ “อุรุยศ” ก็ทำให้เซียนการเมืองชายโขง พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ศึกนายก อบจ.เที่ยวนี้ เป็นศึกคนกันเอง
เนื่องจากการเลือกตั้ง สส.หนองคาย ปีที่แล้ว อุรุยศ เอียสกุล ยังเป็นพันธมิตรกับยุทธนา ศรีตะบุตร นายก อบจ.หนองคาย หนุนกระแสร์ ตระกูลพรพงศ์ พลังประชารัฐ ได้รับเลือกเป็น สส.หนองคาย เขต 1
มาวันนี้ อุรุยศและยุทธนา ต้องมาเป็นคู่แข่งกันในสนามนายก อบจ. โดยทายาทคนในตระกูลเอียสกุล เลือกสวมเสื้อส้ม ส่วนยุทธนายังภักดีอยู่กับลุงป้อม
ย้อนไปปี 2564 การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองหนองคาย อุรุยศ เอียสกุล หัวหน้ากลุ่มพลังสามัคคี เอาชนะอดีตนายกเล็ก 2 คนคือ กำภล เมืองโคตร และทรงพล โกวิทย์ศิริกุล นำพาตระกูลเอียสกุล กลับมาสู่การเมืองอีกครั้ง
อุรุยศ เอียสกุล เป็นหลานชาย ฉัตรชัย เอียสกุล อดีต สส.หนองคาย และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง
หลังฉัตรชัยถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองสมัยพรรคไทยรักไทย ก็ไม่มีคนจากตระกูลเอียสกุล เข้ามาเล่นการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น
กิมก่าย-อีสานเหนือ
50 ปีที่แล้ว มังกรอีสานที่โด่งดังในยุทธจักรธุรกิจและการเมือง มีอยู่สองคนคือ “ตังฮั้วอีสานใต้ กิมก่ายอีสานเหนือ”
“กิมก่าย” ก็คือ ธเนตร เอียสกุล คหบดีชาวหนองคายที่ชอบทำบุญและบริจาคทรัพย์ช่วยเหลือคนยากไร้
อีกมิติหนึ่งคือ กิมก่ายเป็นพ่อค้าส่งออกข้าวเหนียวรายใหญ่ ที่มีตลาดอยู่ใน สปป.ลาว รวมทั้งมีกิจกิจการโรงสีข้าว โรงมันอัดเม็ด และธุรกิจรถบรรทุกสายอีสาน
ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน ปี 2518 ธเนตร เอียสกุล ร่วมก่อตั้งพรรคสังคมชาตินิยม ที่มีประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ เป็นหัวหน้าพรรค และกิมก่ายได้รับเลือกเป็น สส.หนองคาย ซึ่งในรัฐบาลคึกฤทธิ์ เสี่ยกิมก่ายได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์
เฉลิมชัย เอียสกุล ลูกชายของกิมก่าย เข้าสู่ถนนการเมืองสืบต่อจากบิดา โดยเป็น สส.หนองคาย 4 สมัย สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
ถัดมา ฉัตรชัย เอียสกุล พี่ชายเฉลิมชัยก็ลงเล่นการเมือง เป็น สส.หนองคาย พรรคความหวังใหม่ และเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง ก่อนจะย้ายเข้ามาสังกัดพรรคไทยรักไทย
จากปี 2550-2564 ตระกูลเอียสกุล บ้านใหญ่หนองคาย หายไปจากเวทีเลือกตั้งทุกระดับ ก่อนที่อุรุยศ ได้รับเลือกเป็นนายกเล็กเมืองหนองคาย
บ้านใหญ่วังพญานาค
เลือกตั้ง สส.หนองคาย ปี 2566 ผลคะแนนบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ 118,594 คะแนน รองลงมาคือพรรคประชาชน(ก้าวไกล) 96,061 คะแนน
แม้พรรคสีส้มจะไม่ได้ สส.เขต แต่คะแนน สส.ปาร์ตี้ลิสต์ก็สูสีกับเพื่อไทย ด้วยเหตุนี้ หลานเสี่ยกิมก่าย จึงตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาชน และเสนอตัวลงสมัครนายก อบจ.หนองคาย
ตระกูลเอียสกุล น่าจะเป็นบ้านใหญ่หลังแรกใต้ร่มธงสีส้ม ภายใต้การนำของณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค และพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้นำจิตวิญญาณพรรค
การเลือกตั้งนายก อบจ.หนองคาย ปี 2563 ยุทธนา ศรีตะบุตร กลุ่มรักหนองคาย แข่งกับ ธนพล ไลละวิทย์มงคล พรรคเพื่อไทย ที่มี ประสิทธิ์ จันทาทอง อดีต สส.หนองคาย และชนก จันทาทอง สส.หนองคาย สนับสนุน
ปรากฏว่า ยุทธนา ศรีตะบุตร ได้ 85,830 คะแนน ชนะธนพล ไลละวิทย์มงคล ที่ได้ 76,350 คะแนน
ยุทธนายังจะลงสมัครนายก อบจ.หนองคาย ในนามกลุ่มรักหนองคาย และได้รับการสนับสนุนจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
ศึกท้องถิ่นครั้งใหม่ ยุทธนา จะได้เป็นนายก อบจ.สมัยที่ 6 หรือไม่ บ้านใหญ่เอียสกุลในเสื้อสีส้มจะเป็นผู้ให้คำตอบ