คอลัมนิสต์

แกนนำหาย “ทักษิณ” รู้ยังมวลชนเปลี่ยน “แดงอุบล” ถอยจับตาแดงแป้งมัน

แกนนำหาย “ทักษิณ” รู้ยังมวลชนเปลี่ยน “แดงอุบล” ถอยจับตาแดงแป้งมัน

06 ธ.ค. 2567

สถานการณ์เปลี่ยน “ทักษิณ” รู้ยังมวลชน “แดงอุบล” ถดถอย แกนนำแยกข้างย้ายขั้ว บางคนรับงานปั้นแดงแป้งมัน

รู้ยังพ่อใหญ่ ทักษิณ สมรภูมิเมืองอุบลฯเปลี่ยน คนเสื้อแดงถดถอย แกนนำแตกย้ายขั้ว มวลชนเปลี่ยนเป็นส้ม

 

เวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน อดีตแกนนำ นปช.อุบลฯ ชี้ไม่เหลือเสื้อแดง มีแต่สมาชิกพรรคเพื่อไทยที่สวมเสื้อสีแดง 

 

อีกไม่กี่วันข้างหน้า ทักษิณ ชินวัตร จะเดินทางไป จ.อุบลราชธานี เพื่อหาเสียงช่วย กานต์ กัลป์ตินันท์ ผู้สมัครนายก อบจ.อุบลฯ พรรคเพื่อไทย

มีผู้สังเกตว่า เวลาพูดถึงเมืองอุบลฯ ไม่มีใครพูดถึงคนเสื้อแดง เหมือนเมืองอุดรฯ ทั้งที่ช่วงปี 2552-2553 แดงอุบลก็เข้มแข็งไม่แพ้แดงอุดร

 

หลายคนยังจดจำภาพ “กลุ่มชักธงรบ” แดงฮาร์ดคอร์เมืองอุบลฯ อันโลดโผนได้เป็นอย่างดี

 

จำรูญศักดิ์ จันทรมัย อดีตแกนนำ นปช.อุบลราชธานี เพิ่งให้สัมภาษณ์นักข่าวท้องถิ่นประเด็นคนเสื้อแดง จะไปต้อนรับทักษิณหรือไม่

 

“...แกนนำคนเสื้อแดงไม่เหลืออยู่แล้ว ไม่มีใครทำแล้ว ถ้าจะมีก็คงจัดตั้งขึ้นมาให้ใส่เสื้อแดงเท่านั้น”

 

อดีตประธาน นปช.อุบลฯ บอกชัด “แกนนำเสื้อแดง” วางมือหมดแล้ว ทั้ง “ดีเจต้อย ชักธงรบ” , “ดีเจสาวฝั่งโขง” และตัวเขาเอง(จำรูญศักดิ์ จันทรมัย)

 

หากจะมีคนเสื้อแดงไปต้อนรับทักษิณ ก็เป็นการจัดตั้งของ สส. และอดีต สส. ภายใต้การดูแลของ เกรียง กัลป์ตินันท์

 

หลังรัฐประหาร 2557 แกนนำแดงอุบลฯบอบช้ำไปตามๆกัน ติดคุกติดตะราง บางคนจึงตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อบ้านใหญ่กัลป์ตินันท์

 

ในแง่ของมวลชนเสื้อแดงทั่วไป ได้แปรเปลี่ยนเป็น “ด้อมส้ม” จำนวนมาก โดยเฉพาะเมื่อการเลือกตั้ง สส.อุบลฯ ปี 2566

 

เหนืออื่นใด ในการเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลฯ ครั้งนี้ มีอดีตแกนนำแดงอุบลฯบางคน เข้ามาทำงานจัดตั้งมวลชนให้กับค่ายแป้งมัน

ดีเจต้อย อดีตแกนนำกลุ่มชักธงรบ

 

กำเนิดแดงแป้งมัน

 

ปี 2552 “ดีเจต้อย” พิเชษฐ์ ทาบุดดา เจ้าของสถานีวิทยุชุมชนฯ ได้จัดตั้งกลุ่มชักธงรบ เป็นองค์กรเสื้อแดงเมืองอุบลฯ ที่เข้มแข็ง โดยการสนับสนุนของ เกรียง กัลป์ตินันท์

 

หลังเหตุการณ์ปราบเสื้อแดงในเมืองหลวง พิเชษฐ์ ทาบุดดา ต้องติดคุกติดตะราง เมื่อเขาตกเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งที่เขาไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ

 

ศาลชั้นต้นตัดสินให้จำคุก 1 ปี แต่เนื่องจากถูกจำคุกก่อนศาลอ่านคำพิพากษาเกินอัตราโทษแล้ว จึงได้รับการปล่อยตัว และศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น

 

15 ธ.ค.2558 ศาลฎีกาพลิกคำพิพากษาเป็นจำคุกตลอดชีวิต และหลังจำคุก 6 ปีกับ 2 เดือน ดีเจต้อยได้รับอิสรภาพตามเงื่อนไขการลดหย่อนโทษของกรมราชทัณฑ์ เมื่อต้นปี 2565

 

สองปีก่อน ดีเจต้อย ได้เข้าไปร่วมงานกับพรรคเพื่อไทรวมพลัง (พรรคไทรวมพลัง) โดยรวบรวมแดงรากหญ้าทั่วเมืองอุบลฯ ให้มาเป็นสมาชิกพรรคใหม่

 

 

ช่วงการเลือกตั้ง สส.อุบลฯปีที่แล้ว ดีเจต้อยได้ไปช่วยหาเสียงให้พรรครวมไทยสร้างชาติ เช่นเดียวกับ จำรูญศักดิ์ จันทรมัย อดีตประธาน นปช.อุบลฯ

 

แดงอุบลฯแผ่ว

 

สำหรับแกนนำแดงอุบลฯ ไม่ได้มีเพียง ดีเจต้อย - พิเชษฐ์ ทาบุดดา และจำรูญศักดิ์ จันทรมัย หากยังมีอีก 2 คนคือ สมบัติ รัตโน อดีต สส.อุบลฯ และ “ดีเจสาวฝั่งโขง” หรือ อุบลกาญจน์ อมรสิน

 

สมบัติ รัตโน เป็น สจ.เขต อ.ดอนมดแดง มาหลายสมัย ก่อนจะได้เป็น สส.อุบลฯ 3 สมัย โดยช่วงแดงทั้งแผ่นดิน สมบัติร่วมกับดีเจสาวฝั่งโขง เคลื่อนไหวปลุกระดมคนเสื้อแดงขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์

 

ดีเจสาวฝั่งโขง หรืออุบลกาญจน์ อมรสิน เป็นเจ้าของสถานีวิทยุชุมชนซำบายใจไทยอีสาน ความถี่ 99.25 เมกะเฮิรตซ์หมู่ 1 บ้านตำแย ต.ไร่น้อย อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

 

ปัจจุบัน สมบัติ ได้ลาออกจากพรรคเพื่อไทยไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย เนื่องจากมีความขัดแย้งกับเกรียง กัลป์ตินันท์ ส่วนดีเจสาวฝั่งโขงได้วางมือหันไปประกอบธุรกิจส่วนตัว