คอลัมนิสต์

กลยุทธ์ “ทักษิณ” ลุยสนาม “อบจ.อีสาน” เป้าหลักทวงคืน 58 ที่นั่ง สส.

กลยุทธ์ “ทักษิณ” ลุยสนาม “อบจ.อีสาน” เป้าหลักทวงคืน 58 ที่นั่ง สส.

07 ม.ค. 2568

อ่านเกมข้ามช็อต “ทักษิณ” หาเสียงเชิงยุทธวิธี “อบจ.อีสาน” สู่ยุทธศาสตร์ทวงคืนที่นั่ง สส. โฟกัส 4 สนามชายโขง

ผ่าแผน ทักษิณ หาเสียงเชิงยุทธวิธีชิง อบจ.อีสาน บรรลุยุทธศาสตร์ทวงคืนที่นั่ง สส.ที่หายไปมากกว่า 50 ที่นั่ง

 

โฟกัส 4 สังเวียน อบจ.ชายโขง หนองคาย บึงกาฬ นครพนม และมุกดาหาร พิสูจน์ฝีมือซุ้มสุริยัน-จันทรา

 

สัปดาห์หน้า ทักษิณ ชินวัตร มีคิวเดินสายหาเสียง “นายก อบจ.” โซนอีสาน ระหว่างวันที่ 18-25 ม.ค.2568

18 ม.ค.68 ทักษิณไปช่วย อนุชิต หงษาดี ผู้สมัครนายก อบจ.นครพนม ที่มี “รัฐมนตรีเดือน” มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เป็นแม่ทัพใหญ่

 

19 ม.ค.68 ทักษิณไปช่วย ภูมิพันธ์ บุญมาตุ่น ผู้สมัครนายก อบจ.บึงกาฬ ที่ได้ไฟเขียวจากมนพร เจริญศรี

 

วันเดียวกัน ทักษิณไปช่วย วุฒิไกร ช่างเหล็ก ผู้สมัครนายก อบจ.หนองคาย โดยการดูแลของบ้านใหญ่จันทาทอง

 

20 ม.ค.68 ทักษิณไปช่วยหาเสียงให้กับ บุญฐิน ประทุมลี ผู้สมัคร นายก อบจ.มุกดาหาร สายตรงมนพร เจริญศรี

 

24-25 ม.ค.68 ทักษิณไปช่วย วิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ ผู้สมัครนายก อบจ.ศรีสะเกษ สายตรงสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม

 

ทุกครั้งที่ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นเวทีปราศรัยช่วยผู้สมัครนายก อบจ. จะพูดเรื่องท้องถิ่นน้อยมาก ส่วนใหญ่เขาจะพูดเรื่องการเมืองระดับชาติ

 

จริงๆแล้ว การหาเสียงนายก อบจ.เป็นกลยุทธ์เชิงยุทธวิธี ที่นายใหญ่ต้องการบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ 200 ที่นั่ง ในการเลือก สส.ครั้งหน้า

 

หากเพื่อไทยไม่พลาดท่าเสียที่นั่ง สส.อีสาน ไปมากถึง 58 ที่นั่ง ก็คงเป็นพรรคอันดับหนึ่ง ไม่ต้องมีเสียงแค่ 141 ที่นั่ง ให้พรรคร่วมรัฐบาลต่อรอง

สส.มด ชนก จันทาทอง แม่ทัพหนองคาย

 

ทวงคืนที่มั่นแดง

 

สนามเลือกตั้งนายก อบจ.ชายโขง พรรคเพื่อไทย มอบให้ “รัฐมนตรีเดือน” มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เป็นแม่ทัพใหญ่ ดูแลบึงกาฬ นครพนม และมุกดาหาร

 

จ.บึงกาฬ ตั้งแต่แยกตัวออกมาจาก จ.หนองคาย ในทางการเมืองถือว่าเป็นเขตสีแดง พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งยกจังหวัด

 

เลือกตั้งปี 2566 บึงกาฬเปลี่ยนจากแดงเป็นน้ำเงิน เมื่อ 3 สส.บึงกาฬ ตกเป็นของภูมิใจไทย 2 คน และเพื่อไทย 1 คน

 

สัญญาณการเปลี่ยนแปลง เริ่มจากเลือกตั้งนายก อบจ.บึงกาฬ ปี 2563 แว่นฟ้า ทองศรี ยาใจทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย ได้รับเลือกเป็นนายก อบจ.

 

ปีนี้ นิพนธ์ คนขยัน สส.บึงกาฬ เพื่อไทย ตัดสินใจหนุนภูมิพันธุ์ บุญมาตุ่น ลงสนามแก้มืออีกรอบ เพราะหนก่อน ภูมิพันธุ์สวมเสื้อสีส้มลงสนามแพ้แว่นฟ้าขาดลอย

 

หนองคายเป็นอีกสมรภูมิที่เพื่อไทยพลาดท่าไป 1 เขต ปล่อยให้กระแสร์ ตระกูลพรพงศ์ พรรคพลังประชารัฐ แทรกเข้ามาได้

 

เลือกตั้งนายก อบจ.หนองคาย ปรากฏว่า 2 สส.หนองคาย เพื่อไทย ชนก จันทาทอง และเอกธนัช อินทร์รอด หนุน “เสี่ยแอร์” วุฒิไกร ช่างเหล็ก ท้าชนแชมป์ 6 สมัย ยุทธนา ศรีตะบุตร กลุ่มรักหนองคาย สายตรงบ้านป่ารอยต่อฯ

 

ชั่วโมงนี้ ค่ายสีแดงยังเป็นรองค่ายลุงป้อม เพราะยุทธนา มีเครือข่าย สจ. และ อบต.แข็งแกร่ง

 

ซุ้มสุริยันจันทรา

 

สมรภูมินายก อบจ.นครพนม เป็นเดิมพันสำคัญของ มนพร เจริญศรี ในฐานะ สส.นครพนม ที่มีเป้าหมายยึด 4 ที่นั่งในอนาคต เนื่องจากปัจจุบัน เพื่อไทยและภูมิใจไทย แบ่งกันคนละ 2 ที่นั่ง 

 

บันไดขั้นแรก อนุชิต หงษาดี ต้องได้รับเลือกเป็นนายก อบจ.นครพนมซึ่งมีด่านสีน้ำเงินขวางอยู่ นั่นคือ ศุภพานี โพธิ์สุ อดีตนายก อบจ.นครพนม ลูกสาว “สหายแสง” ศุภชัย โพธิ์สุ

 

มุกดาหาร เป็นสนามที่นายใหญ่ผิดหวังจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เพราะเพื่อไทย ไม่มี สส.แม้แต่คนเดียว

 

นนทภูมิ ตั้งปณิธานนท์ ทายาทบ้านใหญ่ และบุญฐิน ประทุมลี อดีต สส.มุกดาหาร 2 สมัย สอบตกทั้งคู่

 

การเลือกตั้งนายก อบจ.มุกดาหาร มนพร ส่ง บุญฐิน ประทุมลี ลงสมัครนายก อบจ. หวังเก็บเกี่ยวคะแนนคนเสื้อแดงและเอฟซีเพื่อไทย

 

คู่แข่งที่น่ากลัวของเพื่อไทยคือ สุพจน์ สุอริยพงษ์ ผู้สมัครนายก อบจ.มุกดาหาร พรรคประชาชน และวีระพงษ์ ทองผา ตัวแทนบ้านใหญ่ตระกูลทองผา

 

ข้อสังเกตจากสมรภูมิ 4 จังหวัดชายโขง นายใหญ่คงหวังไกลไปถึงการเลือกตั้ง สส.สมัยมากกว่า เพื่อไทยต้องชนะยกจังหวัดให้ได้

 

------------------------

 

ร่วมเสนอชื่อ คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 21 (18.12.2024 - 09.01.25)