เกณฑ์ทหารชายแดนใต้ มีเก็บ "ดีเอ็นเอ" เพื่อนำเป็นฐานข้อมูล
เกณฑ์ทหารชายแดนใต้ มีเก็บ "ดีเอ็นเอ" เพื่อนำเป็นฐานข้อมูล
การตรวจเลือกทหารหรือที่เรียกง่ายๆ ว่า "เกณฑ์ทหาร" ในปีนี้ ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงคึกคักเหมือนเคย แต่ประเด็นที่ถูกตั้งคำถามกันมากถึงความเหมาะสมก็คือ กรณีที่มีการสั่งเก็บดีเอ็นเอผู้เข้ารับการตรวจเลือกทุกคน ซึ่งบางส่วนมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ที่จังหวัดยะลา ปีนี้มีชายไทยถึงกำหนดต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารจำนวนทั้งสิ้น 3,766 คน และจะรับเป็นทหาร 565 คน แบ่งเป็นทหารบก 152 คน ทหารเรือ 413 คน โดยการตรวจคัดเลือกทหารปีนี้ มีกระบวนการให้ผู้ที่เข้ารับการตรวจเลือกทุกคนทำการตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด สืบเนื่องจากนโยบายการปราบปรามยาเสพติดของแม่ทัพภาค 4 พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ในเรื่องของการแก้ไขปัญหายาเสพติดของกำลังพล ขณะเดียวกันได้มีการเก็บสารพันธุกรรม หรือ ดีเอ็นเอ ของผู้ที่เข้ารับการตรวจเลือกทหารทุกคน เพื่อนำไปเป็นฐานข้อมูลด้วย รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา พ.อ.ชลัช ศรีวิเชียร กล่าวว่า การเก็บดีเอ็นเอของผู้เข้ารับการตรวจเลือกทหาร ปีนี้นับเป็นปีแรก และนำร่องในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอจะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ก่อน หลังจากนี้จึงจะขยายไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ต่อไป โดยการเก็บดีเอเอ็นเพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลของบุคคลที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยเฉพาะฐานข้อมูลทางนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อหาความเชื่อมโยงในคดีความมั่นคง ซึ่งในห้วง 15 ปีที่ผ่านมา จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และปัจจุบันก็ยังมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอยู่ พ.อ.ชลัช บอกด้วยว่า การเก็บดีเอ็นเอไม่มีการบังคับ แต่ได้อธิบายทำความเข้าใจ กระทั่งผู้เข้ารับการตรวจเลือกทหารให้ความร่วมมือ และกระทำด้วยความสมัครใจ บางพื้นที่มีบางคนไม่ยินดีให้ตรวจ ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่ตรวจ สำหรับในพื้นที่จังหวัดยะลามีผู้ไม่สมัครใจให้ตรวจไม่ถึง 1% ซึ่งจริงๆ แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131/1 เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะสั่งตรวจหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ได้ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงเวลามีคดีเกิดขึ้น แต่ถ้าผู้ต้องหาไม่ยอมให้ตรวจโดยไม่มีเหตุผลอันควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผลตรวจอาจเป็นผลร้ายต่อตัวผู้ต้องหา แต่สำหรับการดำเนินการของฝ่ายทหาร จะไม่สรุปแบบนั้น เพราะเน้นการทำความเข้าใจมากกว่า
ด้านแม่ทัพภาคที่ 4 พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ รระบุการตรวจเลือกทหารในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ปีนี้ จะมีการตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด และเก็บหลักฐานดีเอ็นเอด้วย โดยในส่วนของการตรวจปัสสาวะ พบว่าข้อมูลที่รวบรวมได้ทุกอำเภอ มีจำนวนผู้ติดยาเสพติดลดลงราวๆ 1 ใน 3 ส่วนการเก็บหลักฐานดีเอ็นเอ เป็นไปตามความสมัครใจ และให้กรอกเอกสารยินยอมก่อน ที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม.เคยแสดงความกังวลการบังคับเก็บหลักฐานดีเอ็นเอโดยไม่สมัครใจ ซึ่งมีความพยายามมาตลอดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนการเปิดให้เก็บหลักฐานดีเอ็นเอในช่วงของการตรวจเลือกทหารนั้น แม้่ฝ่ายกองทัพจะชี้แจงว่าเป็นไปตามความสมัครใจ แต่สถานการณ์ระหว่างการตรวจเลือกทหาร จะมีชายไทยกล้าปฏิเสธหรือไม่