Online Program

บ้านลอยน้ำกลางทะเล สถาปนาอธิปไตยผิดกฎหมายไทยเพียบ

บ้านลอยน้ำกลางทะเล สถาปนาอธิปไตยผิดกฎหมายไทยเพียบ

23 เม.ย. 2562

บ้านลอยน้ำกลางทะเล สถาปนาอธิปไตยผิดกฎหมายไทยเพียบ

กรณีบ้านลอยน้ำ แม้จะลอยอยู่นอกน่านน้ำไทยแต่ถ้ากระทบกับอธิปไตยไทยก็มีความผิดตามกฎหมายไทย ฉะนั้นไม่ว่าจะอ้างอย่างไรก็ตาม งานนี้ไม่พ้นผิดแน่ กองทัพเรือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปข้อกฎหมายที่เข้าข่ายความผิด ดังนี้

 

          - ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 119 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ระบุว่า "ผู้ใดกระทำการใดๆ เพื่อให้ราชอาณาจักรหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรตกไปอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐต่างประเทศ หรือเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป ต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต

          "เรื่องนี้ต้องใช้ประกอบกับมาตรา 7 ของประมวลกฎหมายอาญาเช่นกัน ที่ระบุว่า ถ้าผู้ใดกระทำผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร แม้กระทำนอกราชอาณาจักร ก็ต้องรับโทษในราชอาณาจักร

          - กฎหมายต่อมา คือ พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 121 ให้อำนาจกรมเจ้าท่าทำเครื่องหมายแสดงอันตราย หรือ รื้อ กู้ ขน ทำลาย กรณีมีเรือไทย เรือต่างประเทศ หรือสิ่งอื่นใดจมลงหรืออยู่ในสภาพที่อาจเป็นอันตรายแก่การเดินเรือในน่านน้ำไทย โดยให้เจ้าของเรือหรือวัสดุนั้นรับผิดชอบค่าใช้จ่าย (ซึ่งเรื่องนี้กองทัพเรือยืนยันหลายครั้งแล้วว่า บ้านลอยน้ำ กระทบต่อเส้นทางการเดินเรือ โดยเฉพาะเรือบรรทุกสินค้า อาจชนกันจนน้ำมันรั่วไหลลงทะเลได้)

          - กฎหมายฉบับต่อมา คือ พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เดินหน้าเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว พูดง่ายๆ คือถอนวีซ่า ของ นายแชด แอนตริว เอลวอทอวสกี้ (MR.CHAD ANDREW ELWATOWSKI) สัญชาติอเมริกัน ที่อ้างว่าเป็นลูกค้าที่ซื้อบ้านลอยน้ำ (ภายหลังทาง บริษัท โอเชี่ยน บิลเดอร์ส อ้างว่าสองสามีภรรยา เป็นแค่อาสาสมัครไปทดลองใช้ชีวิตอยู่บนบ้านลอยน้ำ ไม่ได้เกี่ยวกับบ้านและไม่ใช่ลูกค้า)

         - พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ให้อำนาจด่านศุลกากรจังหวัดภูเก็ต ตรวจสอบการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง ว่ามีการนำเข้าจากต่างประเทศที่ถูกต้องตามขั้นตอนและมีการเสียภาษีหรือไม่

          - พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ให้อำนาจอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต เข้าตรวจสอบโรงงานที่ผลิตและติดตั้งบ้านลอยน้ำ เบื้องต้นพบว่าไม่มีใบอนุญาต จึงสั่งให้หยุดการดำเนินกิจการทันที

          - พระราขบัญญัติการขุดดินและถมดิน พ.ศ.2543 ให้ อบต.ไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ตรวจสอบการขุดเปิดหน้าดินของโรงงานที่ผลิตบ้านลอยน้ำ ว่าขออนุญาตหรือไม่- นอกจากนั้นยังมีกฎหมายระหวางประเทศ ได้แก่ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 ข้อ 60 ว่าด้วย เกาะเทียม สิ่งติดตั้ง และสิ่งก่อสร้างในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ให้สิทธิ์อันสมบูรณ์แก่รัฐชายฝั่ง (กรณีนี้คือไทย) ในการก่อสร้างหรือให้ใบอนญาตในการก่อสร้างต่างๆนอกจากนั้น ในเขตต่อเนื่องกับทะเลอาณาเขตของตน ซึ่งเรียกว่า "เขตต่อเนื่อง" รัฐชายฝั่งอาจดำเนินการควบคุมที่จำเป็น เพื่อป้องกันการฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่างๆ ภายในทะเลอาณาเขตของตนได้ โดย "เขตต่อเนื่อง" มีพื้นที่ไม่เกิน 24 ไมล์ทะเล จากเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขตอีกที

 

ฉะนั้นถ้าทะเลอาณาเขตเราอยู่ที่ 12 ไมล์ทะเล "เขตต่อเนื่อง" ก็จะนับต่อไปอีก 2 เท่า ซึ่งไทยมีสิทธิ์ควบคุมดูแลเพื่อป้องกันการกระทำผิดกฎหมายในทะเลเขตต่อเนื่องนี้ได้สรุปก็คืองานนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับบ้านลอยน้ำ มีความผิดแน่ๆ ทางผู้ว่าฯภูเก็ตก็ออกมาบอกล่าสุดว่าจะยื่นฟ้องคดีต่อศาลโดยเร็วที่สุด และจะเร่งขออนุมัติหมายจับสามีภรรยาผู้ครอบครองบ้านลอยน้ำมาดำเนินคดี ซึ่งขณะนี้ไม่รู้ว่าหลบไปอยู่ที่ไหนแล้ว