Online Program

เปิดปกาศิต กกต. "เหลือง-ส้ม-แดง-ดำ" จัดการใครอย่างไร?

เปิดปกาศิต กกต. "เหลือง-ส้ม-แดง-ดำ" จัดการใครอย่างไร?

25 เม.ย. 2562

เปิดปกาศิต กกต. "เหลือง-ส้ม-แดง-ดำ" จัดการใครอย่างไร?

สำหรับ "ใบส้ม" คืออำนาจการตรวจสอบทุจริตเลือกตั้งของ กกต. เป็นอำนาจ "สั่งเลือกตั้งใหม่" และชงเรื่องให้ศาลพิจารณาโทษผู้ถูกกล่าวหาในขั้นตอนสุดท้าย โดยอำนาจนี้มีหลายระดับ มีความร้ายแรงแตกต่างกันตามพฤติการณ์ความผิด แยกเป็น "ใบสี" เหมือนที่กรรมการให้กับนักเตะในเกมฟุตบอล

 

เริ่มจาก "ใบเหลือง" แจกเมื่อ กกต.พบหลักฐานการกระทำผิดจนเชื่อได้ว่าทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ไม่พบความเชื่อมโยงถึงตัวผู้สมัครคนใดอย่างชัดเจน แบบนี้จะมีการสั่งเลือกตั้งใหม่ โดยผู้สมัครคนเดิมมีสิทธิ์ลงสมัครได้ เพื่อให้ประชาชนใช้วิจารณญาณอีกครั้งตามด้วย

"ใบส้ม" ที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ หมายถึงการระงับสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว มีกำหนด 1 ปี กกต.แจกเมื่อพบหลักฐานการกระทำผิดและเชื่อมโยงถึงผู้สมัครบางคน หากเป็นผู้สมัครที่ไม่ได้คะแนนอันดับ 1 ในการเลือกตั้ง ก็ให้ระงับสิทธิ์ผู้สมัครคนนั้น และไม่นำคะแนนที่ได้มาคิดเป็นคะแนนโหวตของพรรค เพื่อคำนวณหา ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แต่หากผู้สมัครที่โดนใบส้มได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 คือเป็น "ว่าที่ ส.ส." กกต.ต้องสั่งเลือกตั้งใหม่ โดยห้ามผู้สมัครที่โดนใบส้มลงสมัครอีก และคะแนนที่ได้จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา ให้เป็นอันสิ้นผลไป

"ใบแดง" เป็นผลต่อเนื่องจากใบเหลืองและใบส้ม คือ กกต.จะนำหลักฐานที่ได้ เสนอต่อศาลเพื่อให้พิจารณาโทษ หากศาลเห็นว่าผิดจริง ก็จะโดนใบแดง เพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครรายนั้นๆ ต่อไป โดยระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิ์ขึ้นอยู่กับฐานความผิดแต่ละฐานซึ่งไม่เท่ากัน มีทั้ง 10 ปี 20 ปี ความผิดบางเรื่องถ้าโยงถึงพรรค ก็อาจโดนยุบพรรคด้วยและถ้าเป็นการทุจริตที่ส่งผลกระทบถึงงบประมาณของรัฐ ก็จะโดนตัดสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต เรียกว่า "ใบดำ"

นอกจากลงสมัคร ส.ส.ไม่ได้ "ตลอดไป" แล้ว ยังดำรงตำแหน่งทางการเมือ งและเป็นกรรมการองค์กรอิสระไม่ได้ด้วย เรียกว่าต้องออกจากวงการการเมืองและการปกครองไปเลย