Online Program

ฝีมือคนไทย ปลาสวายอุ้มบุญเพาะพันธุ์ออกลูกเป็นปลาบึก

ฝีมือคนไทย ปลาสวายอุ้มบุญเพาะพันธุ์ออกลูกเป็นปลาบึก

09 ม.ค. 2563

ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้มีการแสดงผลงานวิจัยปลูกถ่ายเซลล์สืบพันธุ์ในปลา สามารถทำให้ปลาสวาย ออกลูกมาเป็นปลาบึกได้

ครั้งแรกในประเทศไทย ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้มีการแสดงผลงานวิจัยปลูกถ่ายเซลล์สืบพันธุ์ในปลา (Germ cell transplantation) หรือปลาสวายอุ้มบุญ สามารถทำให้ปลาสวาย ออกลูกมาเป็นปลาบึกได้

โดย รศ. ดร.สุรินทร บุญอนันธนสาร หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางสัตว์ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัยทำให้สิ่งแวดล้อมทางน้ำในปัจจุบันมีความเสื่อมโทรม ภาวะแห้งแล้ง ทำให้ปลาในธรรมชาติลดลง ปลาหลายชนิดอยู่ในภาวะใกล้จะสูญพันธุ์ นักวิชาการได้พัฒนางานวิจัยด้านต่างๆ เพื่อรักษาสายพันธุ์ปลา ให้คงความหลากหลายของสายพันธุ์ปลา นอกจากนี้ในการเพาะเลี้ยงปลาหลายชนิดยังมีปัญหาด้านการเพาะพันธุ์ เช่น ปลาขนาดใหญ่ต้องมีบ่อขนาดใหญ่ ต้องใช้น้ำมากจึงจะสามารถเพาะพันธุ์ปลาได้ 

 

 

ทีมนักวิจัย มทส. จึงร่วมมือกับทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัย Tokyo University of Marine Science and Technology ในประเทศญี่ปุ่น กว่า 5 ปี พัฒนาเทคนิคการปลูกถ่ายเซลล์สืบพันธุ์ในปลา โดยในขณะนี้สามารถที่จะสร้างพ่อ-แม่พันธุ์ปลาสวายที่สามารถอุ้มบุญลูกปลาบึกได้เป็นผลสำเร็จครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อลดข้อจำกัดและระยะเวลาในการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ หรือการผสมเทียมที่ต้องใช้พื้นที่ในการอนุบาลและเพาะเลี้ยงขนาดใหญ่

 

 

ฝีมือคนไทย ปลาสวายอุ้มบุญเพาะพันธุ์ออกลูกเป็นปลาบึก

 

ทีมวิจัยได้ทำการศึกษาวิจัยในกลุ่มปลาบึกและปลาสวายโดยใช้ปลาบึกเป็นปลาผู้ให้ (donor fish) และปลาสวายเป็นปลาผู้รับ (recipient fish) เนื่องจากปลาบึกเป็นปลาที่พบตามธรรมชาติในลุ่มแม่น้ำโขงและเป็นปลาขนาดใหญ่ ที่มีข้อจำกัดในการใช้พื้นที่ในการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ และตามธรรมชาติยังมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนปลาสวายเป็นปลาที่มีสายวิวัฒนาการใกล้เคียงกับปลาบึก มีการเพาะเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย สามารถเพาะพันธุ์และอนุบาลปลาสวายได้ในบ่อเลี้ยงขนาดเล็ก โดยในขั้นตอนของงานวิจัยจะสกัดเอาเสต็มเซลล์ (stem cell) จากอวัยวะสืบพันธุ์ปลาบึก เพื่อมาปลูกถ่ายในลูกปลาสวายเผือกวัยอ่อนอายุ 4-5 วัน แล้วเลี้ยงปลาสวายเผือกที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์สืบพันธุ์จนเป็น พ่อ-แม่ พันธุ์ และนำมาเพาะขยายพันธุ์ตามธรรมชาติในบ่ออนุบาล

 

 

 

ทั้งนี้ ในธรรมชาติปลาสวายเผือกจะให้ลูกปลาสวายเผือกที่ลำตัวมีสีขาวอมแดงทั้งหมด ซึ่งถ้าหากพ่อแม่พันธุ์ปลาสวายที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์สืบพันธุ์จากปลาบึก ให้ลูกปลาที่มีสีเทาดำ (สีลำตัวปกติของปลาบึก) ร่วมกับปลาสีขาวอมแดงซึ่งเป็นปลาสวายเผือก ในครอกเดียวกันจะทำให้สามารถสังเกตได้ชัดเจนว่าปลาสวายเผือกได้อุ้มบุญปลาบึกเป็นผลสำเร็จ โดยเรียกปลาสวายเผือกที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์สืบพันธุ์และสามารถผลิตลูกปลาบึกได้ว่า พ่อแม่ปลาอุ้มบุญ (Surrogate broodstock) โดยในการทดลองทีมวิจัยสามารถที่จะผลิตปลาอุ้มบุญที่สามารถที่ผลิตลูกปลาบึกได้จำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ ทีมวิจัยกำลังพัฒนาให้พ่อแม่ปลาอุ้มบุญสามารถอุ้มบุญลูกปลาบึกได้ 100% ในอนาคต และเตรียมต่อยอดงานวิจัยเพื่อการพัฒนาและอนุรักษ์พันธุ์ปลาหายากและใกล้สูญพันธุ์ต่อไป