คอลัมนิสต์

นักวิชาการวิเคราะห์ผันน้ำเติม 'เขื่อนภูมิพล' กลัวจะได้ไม่คุ้มเสีย: ตอน1

นักวิชาการวิเคราะห์ผันน้ำเติม 'เขื่อนภูมิพล' กลัวจะได้ไม่คุ้มเสีย: ตอน1

24 มี.ค. 2566

วิเคราะห์ผัน น้ำยวม เติมน้ำใน 'เขื่อนภูมิพล' นักวิชาการชี้กลัวจะได้ไม่คุ้มเสีย ลุ่มเจ้าพระยาไม่ได้มีปัญหาขาดแคลนน้ำ แต่ยังประสบปัญหาน้ำท่วม

Highlight

 

• โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ควรชะลอไว้ก่อน และให้สนทช. วิเคราะห์ปัญหาของลุ่มน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำถึงปลายน้ำ

 

• ลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่ได้มีแต่ปัญหาน้ำขาดแคลน แต่เป็นลุ่มน้ำที่ประสบทั้งปัญหาน้ำขาดแคลน และน้ำท่วม สลับๆ ไปเกือบทุกปี และบางช่วงเวลาเดียวกันของบางปี มีทั้งน้ำขาดแคลนในบางพื้นที่ และท่วมในบางพื้นที่

 

• ปัจจุบันระบบชลประทานมีประสิทธิภาพเฉลี่ยเพียง 50-60% จากตัวเลขน้ำใช้เพื่อการเกษตรของลุ่มเจ้าพระยา ปีละ 12,565 ล้าน ลบ.ม. นั่นคือสูญเสียน้ำในระบบชลประทานประมาณ 5,000 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ซึ่งน้ำที่สูญเสียนี้มากกว่า 2 เท่าของน้ำที่จะผันจากยวมมาเติมภูมิพล

 

 

เป็นประจำทุกปีของ วันหยุดเขื่อนโลก (International Day of Actions for Rivers : against Dams) ที่เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและนักสิ่งแวดล้อมทั่วโลกจะร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อสะท้อนปัญหา ผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อน และเรียกร้องให้ยุติการสร้างเขื่อน โดยขอให้ใช้วิธีพัฒนาที่เป็นธรรมและยั่งยืน

 

 

ในส่วนของประเทศไทย ในวันที่ 14 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมสืบชะตา แม่น้ำสาละวิน ที่บริเวณริมแม่น้ำสาละวิน หมู่บ้านสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน มีชาวบ้านจากลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน เยาวชน และเด็กนักเรียนหลายร้อยคนเข้าร่วม และได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนผันแม่น้ำยวม ในโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่ "เขื่อนภูมิพล"

 

โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้  "เขื่อนภูมิพล" แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำ "เขื่อนภูมิพล" ไม่ใช่โครงการใหม่ แต่มีแนวคิดมาตั้งแต่ปี 2538 โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน หลังจากที่การศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จในปี 2549 โครงการนี้ก็ถูกพับไปเนื่องจากใช้งบประมาณสูงมาก

 

 

จวบถึงปี 2559 รัฐบาลโดย คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) อ้างถึงปัญหาวิกฤตภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา สืบเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เกษตรหน้าฝนและเกษตรหน้าแล้ง ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ

 

ภาพประกอบบทความเท่านั้น

 

ข้อจำกัดในการพัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และพื้นที่ว่างของ "เขื่อนภูมิพล" ที่สามารถใช้เก็บกักน้ำเพิ่มเติมได้อีก จึงได้มอบหมายให้กรมชลประทานดำเนินการศึกษาทบทวนการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล รวมทั้งรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมที่สุด

 

 

กรมชลประทานจึงได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ได้แก่ บริษัทปัญญาคอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอส เอ็น ที คอนซัลแตนท์ จำกัด และมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ทบทวนการศึกษาความเหมาะสม และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

 

 

โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้ "เขื่อนภูมิพล" แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล มีวัตถุประสงค์ของโครงการฯ คือ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้ เขื่อนภูมิพล และแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตั้งแต่ด้านท้ายเขื่อนภูมิพลในปัจจุบันและอนาคต 20 ปี (2560-2579) มีองค์ประกอบหลักของโครงการ ได้แก่ เขื่อนและอ่างเก็บน้ำยวมขนาดเก็บกักประมาณ 68 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานีสูบน้ำบ้านสบเงา เพื่อสูบน้ำขึ้นไปเก็บที่อุโมงค์พักน้ำ ซึ่งมีระดับความสูงต่างกันประมาณ 15 ม. และปล่อยน้ำลงมาทางอุโมงค์ส่งน้ำ

 

 

โดยคาดว่าจะสามารถผันน้ำจากแม่น้ำยวมมาเติมอ่างเก็บน้ำ "เขื่อนภูมิพล" ได้เฉลี่ยปีละ 1,795.25ล้านลูกบาศก์เมตร ในการก่อสร้างโครงการที่ใช้งบประมาณกว่า 71,000 ล้านบาทนี้จะส่งผลให้น้ำท่วมพื้นที่ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ ทั้งพื้นที่ป่าลุ่มน้ำชั้น 1A 1B และ ลุ่มน้ำชั้น 3 ประมาณ 2,287 ไร่

 

ภาพประกอบบทความเท่านั้น

 

ปัจจุบัน รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว บนความขัดแย้งระหว่างกรมชลประทานและกลุ่มชาติพันธุ์ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และข้อทักท้วงของนักอนุรักษ์ นักวิชาการหลากหลายสาขา รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในหลายประเด็น อาทิ

 

 

1.กระบวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานรัฐ โดยคณะทำงานของผู้รับจ้างศึกษา เป็นเพียงขั้นตอนการนำเสนออยู่ฝ่ายเดียวต่อกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่มที่มีความเข้าใจต่อภาษาไทยเพียงน้อยนิด

 

2.ประเด็นทางด้านความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่โครงการ

 

3.ประเด็นทรัพยากรธรณี ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขอนามัยในระดับรุนแรง

 

4.นักวิชาที่มีความเชี่ยวชาญทรัพยากรด้านน้ำ มีคำถามต่อการปนเปื้อนทางชีววิทยาของพันธุ์ปลาและสิ่งมีชีวิตในน้ำ จากลุ่มน้ำสาละวิน ไปสู่ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา สู่ลุ่มน้ำท่าจีน และออกอ่าวไทย

 

5.ประเด็นความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งจะคุ้มค่าก็ต่อเมื่อเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไปเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ อีกทั้ง ตัวเลขผลประโยชน์ที่ระบุอาจสูงเกินจริง

 

6.การก่อสร้างโครงการใช้งบประมาณสูงถึง 71,000 ล้านบาท รัฐมีแนวโน้มจะดำเนินการในรูปแบบ PPP หรือ รัฐ-เอกชน ร่วมทุน ซึ่งจะส่งผลต่อราคาต้นทุนของน้ำที่ยังไม่รู้ว่าใคร หรือหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบในค่าน้ำต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และด้วยวิธีการใด

 

7.โครงการส่งผลกระทบต่อเกษตรกรทุกคน ผู้ใช้น้ำประปาทุกคน ชาวประมงทุกคนในลุ่มน้ำยวม ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำท่าจีน แต่ส่วนใหญ่ยังไม่รับรู้รับทราบข้อมูลโครงการ แสดงถึงความล้มเหลวของกระบวนการมีส่วนร่วม

 

 

โดย – ผศ.ดร.สิตางค์ พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์