คอลัมนิสต์

เปิดตำนาน 'ตึกไทยคู่ฟ้า' ศูนย์กลางอำนาจ รัฐบาลไทย

เปิดตำนาน 'ตึกไทยคู่ฟ้า' ศูนย์กลางอำนาจ รัฐบาลไทย

11 พ.ค. 2566

เปิดตำนาน 'ตึกไทยคู่ฟ้า' ลุ้น 14 พ.ค. 2566 วันชี้ขาด ชิงธง 'นายกรัฐมนตรี' คนที่ 30 เข้า ทำเนียบรัฐบาล นั่งบริหารประเทศ

วันที่ 14 พ.ค. 2566 เป็นวันชี้ชะตาว่า พรรคไหนหรือใคร จะสามารถชิงธงเข้ามานั่งใน “ทำเนียบรัฐบาล” ในฐานะนายกรัฐมนตรี หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปสิ้นสุดลง

 

 

 

ที่ตั้งทำเนียบรัฐบาลนั้น เรียกว่าตึกไทยคู่ฟ้า เป็นแลนด์มาร์ค แห่งหนึ่งของประเทศ มีตำนาน ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรี จัดทำข้อมูลให้ศึกษา ในวาระต่างๆ กัน สำหรับเล่มที่ผมใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงนั้น เขาจัดพิมพ์ในวาระครบรอบ 80 ปี ของสำนักนายกรัฐมนตรี หรือเมื่อ 28 มิ.ย. 2555 หนังสือนี้ อาจารย์ธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษา

 

ทำเนียบรัฐบาล

ก่อนที่จะเล่าถึงความเป็นมาของตึกไทยคู่ฟ้า ขอเล่าเรื่องความเป็นมาของสำนักนายกรัฐมนตรี ตามที่ ท่าน วิษณุ เครืองาม ให้ข้อมูลว่า สำนักนายกรัฐมนตรีนั้น มีอายุเท่ากับอายุการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ของประเทศ ในวันที่ 24 มิ.ย. 2475 แต่สำนักนายกรัฐมนตรี ยึดวันที่ 28 มิ.ย. 2475เป็นวันเกิด คือ 1 วัน หลังจากประกาศใช้ พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ในวันที่ 27 มิ.ย. 2475

 

 

ในช่วงนั้น หัวหน้ารัฐบาล เรียกว่าประธานคณะกรรมการราษฎร สมาชิกในคณะรัฐบาลเรียกว่า กรรมการราษฎร ต่อมาชื่อตำแหน่งเปลี่ยนเป็น นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันที่ 10 ธ.ค. 2475

 

 

ส่วนความเป็นมาของตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ศูนย์กลางการบริหารสูงสุดของประเทศนั้น มีดังนี้

 

พล.อ.เจ้าพระยารามราฆพ

พล.อ.เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) เป็นเจ้าของและผู้สร้าง เพื่อให้เป็นที่ประทับ หรือรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพราะที่ดิน 27 ไร่ 3 งาน 44 ตารางวา เป็นที่ดินที่พระราชทาน พร้อมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ในการก่อสร้างด้วย

 

 

ผู้ออกแบบอาคารเป็นช่างชาวอิตาเลียน ที่ออกแบบและสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม อาคารจึงเป็นศิลปแบบโกธิค จะเห็นได้จากเครื่องตกแต่งทรงโค้ง ที่ประตู หน้าต่าง กำแพงทั้งภายใน ภายนอก โดม หัวเสา และขอบกระเบื้องมุงหลังคา ที่งดงาม

 

บ้านนรสิงห์ ทำเนียบรัฐบาล เดิม

 

ตอนแรกเจ้าของเรียกว่าบ้านไกรสร และต่อมาเรียกว่าบ้านนรสิงห์ เมื่อสร้างไปได้ 75% รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตเสียก่อน เจ้าของบ้านจึงใช้ชั้นล่าง ที่เสร็จพร้อมใช้งาน เป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราว บางครั้งใช้เป็นที่จัดเลี้ยง และเล่นละครถวายเจ้านายบางพระองค์ในสมัยนั้น

 

 

ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นบุกประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2483 ญี่ปุ่นติดต่อ พล.อ.เจ้าพระยารามราฆพ เพื่อขอเช่าบ้านนี้ เป็นที่ตั้งสถานทูต โดยจะจ่ายค่าเช่าให้เดือนละ 2,500 บาท แต่ พล.อ.เจ้าพระยารามราฆพ ไม่สนใจ ได้ติดต่อกระทรวงการคลังเพื่อขายให้รัฐบาลในราคา 2 ล้านบาท รัฐบาลไม่ซื้อเพราะไม่มีความจำเป็น

 

จอมพล ป.พิบูลสงคราม

 

เมื่อถึงเดือน ก.ย. 2484  ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ชื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ท่านขอซื้อในราคา 1 ล้านบาท เจ้าของตกลง รัฐบาลจึงขอให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จ่ายเงินซื้อไปก่อน 

 

การเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ในการถือครองเริ่ม วันที่ 29 พ.ย. 2506 เมื่อรัฐบาลทำสัญญาซื้อขายตึกไทยคู่ฟ้า กับสำนักงานทรัพย์สินฯ แต่กว่าจะโอนกรรมสิทธิ์กันได้ก็ถึง 1 ต.ค. 2512 แต่เป็นศูนย์กลางบัญชาการของประเทศเรื่อยมา มีนายกรัฐมนตรี สลับสับเปลี่ยนมานั่งบัญชาการแล้ว 29 คน

 

รัฐบาล สมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

นายกรัฐมนตรี ที่นั่งในทำเนียบรัฐบาล ในเวลาสั้นที่สุด คือ 17 วัน ได้แก่นายทวี บุณยเกตุ นายกรัฐมนตรีคนที่ 5 (พ.ศ. 2488) เรียกว่าเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว เพื่อคอยการเดินทางกลับของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่จะมาเป็นนายกฯ หลังสิ้นสุดสงครามมหาเอเชียบูรพา

 

 

นายรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดคือ 15 ปี (8 สมัย) ได้แก่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีคนที่ 3 จนกระทั่งถูกรัฐประหาร เมื่อ ก.ย. 2500

 

 

นายกรัฐมนตรี ที่ถึงอสัญกรรมในตำแหน่ง ได้แก่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ถึงอสัญกรรม วันที่ 8 ธ.ค. 2506 ขณะที่มีอายุ 55 ปี

 

 

อย่างไรก็ตาม วันที่ 14 พ.ค. 2566 วันเลือกตั้งทั่วไป จะเป็นวันชี้ขาด ว่าใครสามารถชิงธง มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 มานั่งบริหารประเทศในทำเนียบรัฐบาล

 

เป็นเรื่องน่าติดตามนะครับ

 

 

 

 

 

ขอบคุณภาพจาก : ศิลปวัฒนธรรม