โควิด-19

ความหวังใหม่ ส่องประสิทธิภาพ"4 วัคซีนโควิด-19 สัญชาติไทย" จ่อใช้เร็ว ๆ นี้

ความหวังใหม่ ส่องประสิทธิภาพ"4 วัคซีนโควิด-19 สัญชาติไทย" จ่อใช้เร็ว ๆ นี้

21 ส.ค. 2564

ส่องประสิทธิภาพ "วัคซีนโควิด-19 สัญชาติไทย 4 ชนิด" ความหวังใหม่ของคนไทย ที่กำลังอยู่ในระยะทดลอง คาดว่า จะสามารถใช้ได้เร็ว ๆ นี้

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ท่ามกลางการพยายามจัดหาวัคซีนหลักจากต่างประเทศ ทั้งซิโนแวค แอสตราเซนเนก้า ไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา เป็นต้น เพื่อให้ได้ 100 ล้านโดสตามเป้าหมายที่วางไว้ ของรัฐบาล

ขณะเดียวกัน ทีมวิจัยไทย จากหลากหลายสถาบัน ก็ได้คิดค้น พัฒนาวัคซีนสัญชาติไทย เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับคนไทย ในสถาการณ์ที่วิกฤติ ปัจจุบันมีวัคซีนอะไรบ้าง

 

ความหวังใหม่ ส่องประสิทธิภาพ\"4 วัคซีนโควิด-19 สัญชาติไทย\" จ่อใช้เร็ว ๆ นี้

1.วัคซีน ChulaCov19 (เดือนสิงหาคม 2564 ทดลองในมนุษย์)

- ประเภท mRNA  ผลิตจากชิ้นส่วนขนาดจิ๋วสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา (โดยไม่มีการใช้ตัวเชื้อแต่อย่างใด) ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมขนาดจิ๋วนี้เข้าไป จะทำการสร้างเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัสขึ้น (spike protein) 

ผู้พัฒนาวัคซีน

ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ ผู้คิดค้นเทคโนโลยีนี้ของโลกคือ Prof. Drew Weissman

หลังจากทดลองในลิงและหนู พบว่า สามารถยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด และสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง จึงนำมาสู่การผลิตการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1ให้กับอาสาสมัครเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่มอายุ จำนวน 72 คน 

ความคืบหน้าวัคซีน

กำลังจะทดสอบในอาสาสมัครคนไทยเฟส 1 เพิ่มเติมในกลุ่มผู้สูงอายุ  คาดว่า จะรู้ผลว่าสร้างภูมิคุ้มกันปลายเดือนตุลาคม 2564 และคาดอีกว่า จะเป็นวัคซีนที่ผลิตสำหรับการฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นเข็มที่ 3 สำหรับคนไทย โดยมีเป้าหมายว่า จะผลิตออกมา พร้อมขึ้นทะเบียน อย.ได้ในเดือนเมษายน 2565

 

2. วัคซีนใบยา(เดือนสิงหาคม 2564 ทดลองในอาสาสมัคร)

 

ความหวังใหม่ ส่องประสิทธิภาพ\"4 วัคซีนโควิด-19 สัญชาติไทย\" จ่อใช้เร็ว ๆ นี้

ประเภทโปรตีนจากใบยา

เทคโนโลยีการผลิตโมเลกุลโปรตีนจากพืช คือใส่ยีนเข้าไปในพืช แล้วใช้กระบวนการผลิตของพืช ผลิตโปรตีนที่เราต้องการ โปรตีนที่ได้จึงมีความบริสุทธิ์ ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เป็นเทคโนโลยีที่มีมากว่า 15 ปี เคยใช้รักษาโรคอีโบล่า

ผู้พัฒนาวัคซีน

รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ และผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ในนามบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ในความดูแลของ CU Enterprise ร่วมกับ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การทดลอง 

วัคซีนใบยาได้ผ่านการทดสอบในหนู และลิง ด้วยการฉีด 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ ผลการทดสอบปรากฏว่า ลิงมีความปลอดภัย และไม่เกิดผลข้างเคียงใด ๆ

คาดว่า จะทดลองอาสาสมัครกลุ่มแรกจำนวน 50 คน อายุ 18 - 60 ปี โดยอาสาสมัครต้องมีสุขภาพแข็งแรงและไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ในเดือน ก.ย.2564 เมื่อทดสอบกับอาสาสมัครกลุ่มแรกเสร็จจะทดสอบวัคซีนกับอาสาสมัครกลุ่มอายุ 60–75 ปี ต่อไป คาดว่า วัคซีนใบยาจะพร้อมฉีดให้คนไทยช่วงกลางปี 2565

 

ความหวังใหม่ ส่องประสิทธิภาพ\"4 วัคซีนโควิด-19 สัญชาติไทย\" จ่อใช้เร็ว ๆ นี้

3. วัคซีนมหาวิทยาลัยมหิดล ชนิดเชื้อตาย HXP-GPOVac  (เดือน ส.ค.2564 ทดลองในอาสาสมัคร)

- พัฒนาโดย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน  มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม สถาบัน PATH และ The University of Texas at Austin

รายงานผลการทดสอบอย่างเป็นทางการ จะเลือกวัคซีน 2 สูตรที่ดีที่สุด จากการทดลองไป 5 สูตร เพื่อนำมมาทำการทดลองระยะที่ 2 ในอาสาสมัคร 250 คน ในเดือน ส.ค.นี้ และเลือก 1 สูตรที่ดีที่สุดเพื่อทดลองในระยะที่ 3  ส่วนการทดลองระยะที่ 3 ในภาคสนามกับอาสาสมัคร 1,000 - 10,000 คน โดยวัคซีนที่ผ่านการวิจัยในมนุษย์ทั้ง 3 ระยะแล้ว จะถูกนำไปขึ้นทะเบียนกับ อย.เพื่อเริ่มการผลิตต่อไป

 

ความหวังใหม่ ส่องประสิทธิภาพ\"4 วัคซีนโควิด-19 สัญชาติไทย\" จ่อใช้เร็ว ๆ นี้

 

4.วัคซีนไบโอเทค สวทช. (วัคซีนบางชนิดทดสอบในมนุษย์เฟสแรกปลายปี 2564)

ผู้พัฒนา

ทีมวิจัย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาต้นแบบวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ออกมา 3 ประเภท 

1.วัคซีนประเภท Virus-like particle (VLP) หรือ วัคซีนอนุภาคไวรัสเสมือน เป็นเทคโนโลยีการสร้างโครงสร้างเลียนแบบอนุภาคไวรัส แต่ไม่มีสารพันธุกรรมของไวรัสบรรจุในโครงสร้างดังกล่าว จึงปลอดภัย และสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีต่อโปรตีนสไปค์จากผิวของวัคซีนได้ด้วย 

2.วัคซีนประเภท Influenza-based คือการปรับไวรัสไข้หวัดใหญ่ ให้สามารถแสดงออกโปรตีนสไปค์ของไวรัส SAR-CoV-2 หลังจากนำส่งเข้าสู่ร่างกาย วิธีนี้จะทำให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อทั้งไวรัสไข้หวัดใหญ่ และ SARS-CoV-2 ได้ในเวลาเดียวกัน 

3.วัคซีนประเภท Adenovirus vector-based คือ การปรับพันธุกรรมไวรัส Adenovirus serotype 5 ให้อ่อนเชื้อ และสามารถติดเชื้อได้ครั้งเดียว และ เพิ่มยีนที่กำหนดการสร้างโปรตีนสไปค์เพิ่มลงไปในสารพันธุกรรมของไวรัส

โดยวัคซีน 2 ใน 3 ประเภท เป็นวัคซีนชนิดพ่นจมูกคือ วัคซีนชนิด Adenovirus และ วัคซีนชนิด Influenza virus

ซึ่งการทดสอบในหนูทดลอง โดยการพ่นเข้าจมูกผ่านละอองฝอย และฉีดเข้ากล้าม พบว่า สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทั้งในรูปแบบแอนติบอดี และ T cell ได้สูง เช่นเดียวกัน

โดยคาดว่า วัคซีนชนิดนี้ จะยื่นเอกสารต่อ อย. เพื่อขอทดสอบในมนุษย์ โดยจะร่วมกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยวางแผนทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนกับเชื้อสายพันธุ์เดลตา หาก อย.อนุมัติเร็ว ก็เริ่มทดสอบในมนุษย์เฟสแรกปลายปี 2564  และต่อเนื่องเฟส 2 ในเดือน มี.ค.2565 หากได้ผลดี จะสามารถผลิตใช้ได้ประมาณกลางปี 2565