ทำความรู้จัก"โควิดเดลตาสายพันธุ์ย่อย" ที่เริ่มพบในไทย รุนแรงแค่ไหน
ทำความรู้จัก "โควิดเดลตาสายพันธุ์ย่อย" ที่เริ่มพบในประเทศไทย รุนแรงแค่ไหน ขณะที่ แพทย์อินเดีย ยืนยัน "ไฟเซอร์ - แอสตรา" ป้องกันได้
หลังจากที่มีการพบไวรัสเดลตาสายพันธุ์ย่อย ระบาดทั้งในอินเดีย ศรีลังกา และอีกหลายประเทศ ซึ่งคาดว่า มีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์เดลตา ล่าสุด ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยถึงผลการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 จีโนม ที่ระบาดในประเทศไทย ทุกสัปดาห์พบว่า สายพันธุ์เดลตา ที่ระบาดอยู่ในไทยในขณะนี้ เป็นสายพันธุ์ B.1.617.2 แต่เริ่มปรากฏเดลตาสายพันธุ์ย่อยขึ้นแล้ว และต้องเฝ้าระวังว่า สายพันธุ์ย่อยของเดลตา จะส่งผลกระทบต่อการระบาด การป้องกันด้วยวัคซีน หรือการรักษาด้วยยาต้านไวรัสหรือไม่
เดลตาสายพันธุ์ย่อย 4 สายพันธุ์ ที่พบในประเทศไทย ดังนี้
AY.4 หรือ B.1.617.2.4 (สายพันธุ์ย่อยของเดลตา) 3% พบในเขตปทุมธานี
AY.6 หรือ B.1.617.2.6 (สายพันธุ์ย่อยของเดลตา) <1% พบในประเทศไทย
AY.10 หรือ B.1.617.2.10 (สายพันธุ์ย่อยของเดลตา) <1% พบในเขต กทม.
AY.12 หรือ B.1.617.2.15 (สายพันธุ์ย่อยของเดลตา) <1% พบในเขต กทม.
โควิดเดลต้าพลัส แตกต่างจากสายพันธุ์เดลต้าเดิมอย่างไร
โควิดเดลตาพลัส เป็นสายพันธุ์ย่อยของเดลตา ที่เกิดจากการกลายพันธุ์ส่วนหนามโปรตีนที่ตำแหน่ง K417N ส่งผลให้เชื้อไวรัสจับกับเซลล์บนปอดได้แน่นขึ้น ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น และมีศักยภาพในการหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกัน ขณะนี้เป็นที่ทราบกันว่า สายพันธุ์เดลตาพลัส ได้เปลี่ยนจากระดับสายพันธุ์ที่น่าสนใจ (variant of interest) มาอยู่ในระดับสายพันธุ์น่ากังวล (variant of concern)
เชื้อไวรัสกลายพันธุ์เดลตาพลัส ค้นพบครั้งแรกในยุโรป และเริ่มแพร่ระบาดในอินเดีย แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะยังไม่สามารถฟันธงได้ว่า สายพันธุ์นี้เป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวกว่าสายพันธุ์ก่อน ๆ หรือไม่ เพราะหลักฐานทางการแพทย์ที่มีอยู่นั้น ยังไม่เพียงพอต่อการประเมินความรุนแรงของสายพันธุ์ แต่มีการคาดการณ์ว่า อาจส่งผลทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดในอินเดียระลอกที่ 2 ในฤดูร้อนนี้ป้องกันยากขึ้นกว่าเดิม
วัคซีนเอาอยู่หรือไม่
ในส่วนของประสิทธิภาพวัคซีนต่อเดลตาพลัส เบื้องต้นจากสื่อท้องถิ่นของอินเดีย Hindustan Times ระบุว่า เนื่องจากไวรัสนี้เป็นสายพันธุ์ที่พึ่งเกิดใหม่ จึงไม่มีหลักฐานเพียงพอว่า วัคซีนที่มีอยู่เดิมนั้น จะป้องกันได้ดีเพียงใด แต่ถ้าอ้างอิงจากสายพันธุ์เดลตาเดิม หน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษกล่าวว่า วัคซีนจากผู้ผลิต Pfizer และ AstraZeneca ได้ให้ประสิทธิภาพป้องกันอาการติดเชื้อไม่ให้หนักกว่าเดิมได้ถึง 90%
ความรุนแรง
ในบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจากเว็บไซต์ขององค์กร Science Media Centre ของสหราชอาณาจักร ได้มีความคิดเห็นไปในทิศทางที่ว่า เป็นไวรัสที่อยู่ในระหว่างการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ และขณะนี้ การแพร่ระบาดยังไม่ถึงขั้นที่ต้องน่ากังวล และยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ชัดเจนว่า สายพันธุ์เดลตาพลัส จะรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดลตาอย่างไร เพราะเป็นเพียงการกลายพันธุ์ในส่วนของหนามโปรตีน K417N ชนิดเดียวเท่านั้น ซึ่งเบื้องต้น ถ้าอ้างอิงจากสายพันธุ์เดลตาเดิม ก็จะพบว่า ระบาดง่ายกว่า และเป็นสายพันธุ์หลัก ที่ครอบคลุมทั่วโลกอยู่ในขณะนี้
ขณะเดียวกัน วันนี้ (24 ส.ค.2564) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดการแถลงข่าว กรณีพบสายพันธุ์ย่อยของเดลตาในประเทศไทย และ การเฝ้าระวังสายพันธุ์และการกลายพันธุ์โควิด 19 โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ศ.เกียรติคุณ ดร. วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล