"อภิปรายไม่ไว้วางใจ" สธ.-อภ. โร่แจงปมร้อน เงินทอนวัคซีน
"อภิปรายไม่ไว้วางใจ" สธ.-อภ. โร่แจงปมร้อน เงินทอนวัคซีน ยืนยันไม่มีการได้รับส่วนต่างในการจัดซื้อ ย้ำ ซิโนแวค มีประสิทธิภาพ
วันที่ 31 สิงหาคม 2564 การ "อภิปรายไม่ไว้วางใจ" ประเด็นเรื่องของ "เงินทอน" "วัคซีนโควิด" ที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย อภิปรายจนเกิดการตั้งข้อสงสัย ซึ่งล่าสุด นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และนพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม ร่วมชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าว
- ปลดล็อกเร็วไป "หมอธีระ" เตือนระบาดหนัก สาหัสยาวนานอีกหลายเดือนแน่
- "คลายล็อกดาวน์" ชลบุรี เช็กรายละเอียดคำสั่ง ผ่อนคลายกิจการกิจกรรมอะไรบ้าง
- รพ.พุทธมณฑล เปิด "ฉีดวัคซีน" เข็ม 1 เช็กรายละเอียดที่นี่
โดย นพ.โอภาส ได้ชี้แจงว่า ไทยเริ่มนำ "วัคซีนโควิด" "ซิโนแวค" มาใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งวัคซีนได้ผ่านการรับรองจาก อย.แล้ว การนำวัคซีนมาใช้จะคำนึงถึง 2 ปัจจัย คือ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย
อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยต่อว่า จากการศึกษาประสิทธิภาพโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่นำมาใช้ในสถานการณ์จริงในพื้นที่ จ.ภูเก็ต พบว่าวัคซีนช่วยลดการระบาดของโรค มีเอกสารวิชาการยืนยันและเมื่อมีการระบาดในบุคลากรทางการแพทย์ ที่ จ.เชียงราย พบว่า "ซิโนแวค" ช่วยลดการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรคประมาณ 70-80% ขึ้นไป ย้ำไม่มีวัคซีนโควิดชนิดไหนป้องกันโควิดและป้องกันการเสียชีวิตได้ 100% แต่วัคซีนทุกชนิดยังมีประสิทธิผลที่ดีในการลดป่วยหนักและเสียชีวิตได้
ประเด็นการ "ฉีดวัคซีน" แบบไขว้ นพ.โอภาส กล่าวว่า สร้างภูมิคุ้มกันสูงเทียบเท่าแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม แต่การฉีดแบบไขว้จะสามารถฉีดครบ 2 เข็มได้เร็วกว่า เรื่องนี้มีหลักฐานทางวิชาการชัดเจน ทั้งจากนักวิชาการจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ฉะนั้นประเด็นที่บอกว่าการ "ฉีดวัคซีนแบบไขว้" อันตรายโดยไม่มีข้อมูลวิชาการ และไม่มีประสิทธิภาพนั้นไม่ใช่เรื่องจริง เรื่องนี้อาจกระทบต่อระบบการควบคุมโรคได้ ยืนยันว่า "ซิโนแวค" มีประสิทธิภาพ
ทางด้าน นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม ชี้แจงว่า อภ.เป็นตัวแทนนำเข้า "วัคซีนโควิด" "ซิโนแวค" ซึ่งประเด็นที่บอกว่าไทยซื้อวัคซีนซิโนแวค ราคา 17 ดอลลาร์นั้น เป็นราคาในล็อตแรก จำนวน 2 ล้านโดส ซึ่งหากเทียบกับบราซิลและอินโดนีเซียที่มีราคาถูกกว่านั้น เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศนี้เป็นพื้นที่ในการวิจัย มีการซื้อวัคซีนเข้ามาจำนวนมากและเป็นแบบนำมาบรรจุเอง ทำให้ราคาถูกกว่าประเทศไทยที่ซื้อแบบสำเร็จรูป
จากนั้นมีการเจรจาต่อรองราคาเกี่ยวกับการซื้อวัคซีนมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้สามารถลดราคาลงจาก 17 เหรียญดอลลาร์ ลดเหลือ 15 เหรียญ 14 เหรียญ 9.5 เหรียญ 9 เหรียญ และราคาสุดท้ายเหลือที่ 8.9 ดอลลาร์ เฉลี่ยทั้งหมดราคาจะอยู่ประมาณ 11.99 เหรียญดอลลาร์
ประเด็นที่ระบุว่า เรามีส่วนต่างนั้น ขอยืนยันว่าไม่มีส่วนต่างในการจัดซื้อ องค์การเภสัชกรรม เป็นผู้ไปลงทุนซื้อโดยใช้เงินเราไปก่อน เมื่อได้วัคซีนแล้วจึงขายให้แก่กรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นผู้ดูแลกรอบวงเงินงบประมาณจัดซื้อมีการเรียกเก็บราคารวมค่าดำเนินการและขนส่งตามความเป็นจริง ยืนยันว่าไม่มีการได้รับส่วนต่างจากกรอบวงเงินที่ตั้งไว้