เช็กเลย 3 ขั้นตอน ใช้ "ออกซิเจน" ที่บ้านอย่างไรให้ปลอดภัย
เช็กเลย 3 ขั้นตอน ง่าย ๆ ใช้ "ออกซิเจน" ที่บ้านอย่างไรให้ปลอดภัย พร้อมคำเตือนตอนใช้และหลังใช้
Home Isolation หรือ การกักตัวที่บ้าน คืออีกวิธีหนึ่งในการดูแลตัวเองของผู้ป่วย "โควิด-19" ที่อยู่ใน กลุ่มสีเขียว (ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย) สำหรับผู้ป่วยโควิดที่แพทย์ได้ประเมินแล้วว่า สามารถรักษาตัวอยู่ที่บ้านได้
- ขสมก. พนง.ขับรถ - กระเป๋ารถเมล์ ติด "โควิด-19" เพิ่ม 14 ราย เช็กสายรถ-ไทม์ไลน์
- คลายล็อกดาวน์ เปิด "หาดบางแสน" วันแรก ส่อง 5 มาตรการ ห้ามอะไรบ้าง
แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ป่วย "โควิด-19" ควรมีติดบ้านไว้ก็คือถัง "ออกซิเจน" หากอาการวิกฤติขยับจากสีเขียวไปเป็นสีเหลือง และสีแดง ในระหว่างที่ต้องรอการส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล ก็จำเป็นจะต้องมี ถังออกซิเจน ไว้คอยช่วยหากหายใจเองลำบาก
วันนี้เราเลยจะมาแนะนำ 3 ขั้นตอน การใช้ "ออกซิเจน" ที่บ้านอย่างไรให้ปลอดภัย มีรายละเอียดดังนี้
1.รู้ก่อนใช้
- ก๊าซออกซิเจนโดยตัวเองไม่ติดไฟ แต่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดการลุกไหม้ที่รวดเร็วและรุนแรง
- ก๊าซออกซิเจนทางการแพทย์ ต้องบรรจุในถังสีเขียว ที่มีสัญลักษณ์ มอก. 540-2555
- ห้ามใช้ถังที่เป็นสนิม
- ข้อต่อตรงถังต้องใช้เกลียวนอกมาตรฐาน CGA 540 เท่านั้น
- หัวอุปกรณ์ปรับลดแรงดัน ต้องใช้หัวสำหรับออกซิเจนทางการแพทย์เท่านั้น
- ควรมีถังดับเพลิงติดตั้งไว้บริเวณใกล้เคียง
2.ระวังตอนใช้
- เวลาใช้งานให้วางถังแนวตั้งและยึดให้แน่น
- ระวังการเคลื่อนย้าย หากล้มกระแทกอาจระเบิดได้
- ห้ามวางถังออกซิเจนในห้องโดยสารรถ เพราะถ้าเกิดการรั่วจะเป็นอันตรายได้
- ตอนใช้งานอยู่ห่างจากห้องครัวอย่างน้อย 5 เมตร และต้องไม่อยู่ใกล้ความร้อนหรือเปลวไฟ เช่น สูบบุหรี่ ไดร์เป่าผม เตารีดดัดผม แผ่นทำความร้อน หรือมีดโกนไฟฟ้า
- ห้ามใช้สเปรย์ฉีด เช่น สเปรย์ปรับอากาศหรือสเปรย์ฉีดผมใกล้ชุดจ่ายออกซิเจน เพราะละอองฝอยมีความไวไฟสูงมาก
- ไม่ใช้ครีมและโลชั่นที่ติดไฟได้ เช่น ไอระเหยของผลิตภัณฑ์ทาถู ปโตรเลียมเจลลี่ หรือโลชั่นทามือที่มีส่วนผสมของน้ำมัน
- ไม่ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือขณะใช้งาน เว้นแต่จะปล่อยให้มือแห้งสนิทก่อนหยิบจับอุปกรณ์ออกซิเจน
3.ดูแลหลังใช้
- อย่าวางถังแนวนอน ให้วางตั้งและยึดกับที่ให้แน่น
- อย่าเก็บในที่ปิด เช่น ตู้เสื้อผ้า หีบ และให้ห่างจากแหล่งความร้อน เปลวไฟ อย่างน้อย 1.5 เมตร
- ติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ และห้ามจุดไฟ
- ปิดวาล์วให้สนิทหลังใช้และหมั่นตรวจสอบการรั่ว
- ก่อนส่งคืน ควรฆ่าเชื้อด้วยการเช็ดผิวนอกของถังด้วยแอลกอฮอล์ 70% โดยต้องแน่ใจว่าวาล์วปิดสนิทและไม่รั่วไหล
สำหรับสถานการณ์ "โควิด-19" ประจำวันที่ 1 กันยายน 2564 พบผู้ติดเชื้อเพิ่มวันนี้ 14,802 ราย (แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,585 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 217 ราย) ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 1,190,668 ราย (ระลอกเดือน เม.ย. 2564) และเสียชีวิตเพิ่มวันนี้ 252 ราย (รวมเสียชีวิตสะสม 11,841 ราย)
ข้อมูล/ภาพ : ไทยรู้สู้โควิด, หมอพร้อม, ลมหายใจฉุกเฉิน