"เงินช่วยเหลือเบื้องต้น" วิธียื่นคำร้อง 3 ระดับอาการไม่พึงประสงค์วัคซีน
ทุกคนทุกสิทธิไม่ว่าจะเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สิทธิประกันสังคม หรือ สวัสดิการข้าราชการ สามารถยื่นคำร้องเพื่อขอรับ "เงินช่วยเหลือเบื้องต้น" อาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้
กรณีเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทุกคนทุกสิทธิไม่ว่าจะเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สิทธิประกันสังคม หรือ สวัสดิการข้าราชการ สามารถยื่นคำร้องเพื่อขอรับ "เงินช่วยเหลือเบื้องต้น" จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้ *
ผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง
- ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหาย หรือ ทายาท
- กรณีไม่มีทายาท ผู้อุปการะที่ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล หรือดูแลผู้รับบริการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานพอสมควร หรือหน่วยบริการที่ให้บริการสามารถยื่นคำร้องแทนได้
สถานที่ยื่นคำร้อง
- โรงพยาบาลที่ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19
- สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)
- สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขตพื้นที่ (13 เขต ทั่วประเทศ)
* ระยะเวลาในการยื่นคำร้องภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ทราบความเสียหาย
เอกสารประกอบคำร้อง เพื่อขอรับ "เงินช่วยเหลือเบื้องต้น"
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาใบมรณบัตรของผู้รับบริการกรณีที่เสียชีวิต
- ความเห็นแพทย์ผู้ให้การรักษา และการหยุดพักงาน
กระบวนการพิจารณา
- ยื่นคำร้อง
- คณะอนุกรรมการฯ ภายใต้ สปสช. พิจารณาคำร้อง
- ลงมติว่าเห็นชอบที่จะจ่ายเงินช่วยเหลือหรือไม่ จำนวนเท่าใด
- ในกรณีที่จ่าย สปสช. จะโอนเงินเข้าบัญชี ภายใน 5 วัน หลังจากที่คณะอนุกรรมการฯ มีมติ
- กรณีไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย ยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน
อัตราการจ่ายช่วยเหลือเบื้องต้น
- เสียชีวิต / ทุพผลภาพถาวร ไม่เกิน 4 แสนบาท
- เสียอวัยวะ / พิการ ไม่เกิน 2.4 แสนบาท
- บาดเจ็บ / บาดเจ็บต่อเนื่อง ไม่เกิน 1 แสนบาท
สอบถามเพิ่มเติม : สายด่วน สปสช. 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง
นายแพทย์ จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ สปสช. เปิดให้ผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถยื่นขอรับ "เงินช่วยเหลือเบื้องต้น" ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ข้อมูลจนถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา มีผู้ยื่นคำร้องเข้ามาทั้งหมดจำนวน 3,888 ราย และยังอยู่ระหว่างรอข้อมูลเพิ่มเติมอีก 99 ราย โดยทางคณะอนุกรรมการระดับเขตได้พิจารณาจ่ายเงินชดเชยแล้ว 2,875 ราย และพิจารณาไม่จ่าย 914 ราย รวมเป็นเงินที่จ่ายชดเชยเบื้องต้นไปแล้ว 110,295,000 บาท