โควิด-19

"หมอธีระ" ชี้ 2 เรื่องไทยน่าห่วงสุด ย้ำ ไตรมาสสุดท้ายของปี โควิด-19 ระบาดรุนแรง

"หมอธีระ" ชี้ 2 เรื่องไทยน่าห่วงสุด ย้ำ ไตรมาสสุดท้ายของปี โควิด-19 ระบาดรุนแรง

03 ก.ย. 2564

"หมอธีระ" ชี้ 2 เรื่องหลัก ที่น่าห่วงสุดของไทย ไตรมาสสุดท้ายของปี จะเห็นการระบาดที่ทวีความรุนแรงขึ้นกว่าเดิม

วันที่ 3 กันยายน 2564 "หมอธีระ" รศ.นพ. ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" ระบุว่า ที่น่าห่วงสุดของไทยมี 2 เรื่องหลัก คือ 

 

 

 

หนึ่ง ข้อจำกัดเรื่องระบบสนับสนุนสำคัญ ได้แก่ วัคซีน และการตรวจคัดกรองโรค 

 

สอง มาตรการที่เปิดรับความเสี่ยง ทั้งภายในและภายนอกพร้อมกัน โดยที่สถานการณ์ระบาดเดิมยังรุนแรงต่อเนื่อง 

 

จุดสำคัญที่จะชี้ชะตาการจัดการการระบาดในช่วงถัดจากนี้ไปคือ การที่ประชาชนจะได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม และได้รับเข็ม 3 เพื่อกระตุ้น ได้ทันเวลา และได้รับวัคซีนชนิดที่มีประสิทธิภาพจริงทางคลินิกอย่างเพียงพอหรือไม่ 

 

ป้องกันตัวของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการใส่หน้ากากอนามัย และเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เอาใจช่วยให้ทุกคนปลอดภัยไปด้วยกัน 

 

ทั้งนี้ หมอธีระ ยังระบุถึงสถานการณ์ "โควิด-19" ทั่วโลกวันนี้ 3 กันยายน 2564 ว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 651,293 คน รวมแล้วตอนนี้ 219,893,295 คน ตายเพิ่มอีก 10,331 คน (ยอดตายรวม 4,555,500 คน) 

 

5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุด ยังคงเป็นเช่นเดิมคือ อเมริกา อินเดีย สหราชอาณาจักร อิหร่าน และบราซิล ส่วนอันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อาร์เจนติน่า อิหร่าน และโคลอมเบีย ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น 

 

 

หมอธีระ ระบุเพิ่มเติมอีกว่า New England Journal of Medicine ฉบับวันที่ 2 กันยายน 2021 ตีพิมพ์งานวิจัยในชิลี ที่ติดตามผลของการใช้วัคซีนเชื้อตาย CoronaVac หรือที่เรารู้จักกันคือ Sinovac 

 

โดยทางชิลีมีการอนุมัติให้ใช้ในประเทศ ตั้งแต่ 20 มกราคม 2021 และมีการรณรงค์ให้ฉีดในประชาชนหลังจากอนุมัติไป 2 สัปดาห์ 

 

งานวิจัยนี้ติดตามกลุ่มประชากรอายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 10.2 ล้านคน หลังจากได้รับวัคซีนไป 2 โดส ห่างกัน 4 สัปดาห์ และประเมินประสิทธิภาพหลังจากรับวัคซีนครบตั้งแต่ 14 วันขึ้นไป ผลการวิจัยพบว่า วัคซีนช่วยป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้ 65.9% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 65.2-66.6%) 

 

ลดโอกาสในการป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลได้ 87.4% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 86.7-88.2%) ลดโอกาสในการป่วยรุนแรงจนต้องรักษาในไอซียูได้ 90.3% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 89.1-91.4%) และลดโอกาสที่จะเสียชีวิตได้ 86.3% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 84.5-87.9%) 

 

เดิมในการวิจัยจากประเทศต่าง ๆ ในระยะที่ 3 นั้น มีข้อมูลในกลุ่มผู้สูงอายุน้อยมาก ทั้งนี้งานวิจัยนี้ช่วยชี้ให้เห็นข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มผู้สูงอายุว่า วัคซีนช่วยป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้ 66.6% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 65.4-67.8%) 

 

ลดโอกาสในการป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลได้ 85.3% (95% CI, 84.3 to 86.3) ลดโอกาสในการป่วยรุนแรงจนต้องรักษาในไอซียูได้ 89.2% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 87.6-90.6%) และลดโอกาสที่จะเสียชีวิตได้ 86.5% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 84.6-88.1%) 

 

นอกจากนี้ในภาพรวมยังพบว่าภูมิคุ้มกันนั้นจะตรวจพบในคนที่ฉีดวัคซีนเพียง 17% หลังฉีดไปเกิน 6 เดือน ซึ่งตอกย้ำความสำคัญของการต้องมีการฉีดวัคซีนกระตุ้น 

 

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ประสิทธิภาพของวัคซีนนี้หากประเมินหลังจากฉีดเข็มแรกไป 14 วัน จะน้อยกว่าที่เคยมีรายงานในวัคซีนประเภท mRNA และ viral vector 

 

โดย CoronaVac เข็มแรก จะป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้ 15.5% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 14.2-16.8%) ลดโอกาสป่วยจนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ 37.4% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 34.9-39.9%) ลดโอกาสป่วยรุนแรงจนต้องรักษาในไอซียูได้ 44.7% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 40.9-48.3%) และลดโอกาสเสียชีวิตได้ 45.7% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 40.9-50.2%) 

 

ข้อมูลข้างต้น เน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของการป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ทั้งเรื่องใส่หน้ากาก ล้างมือ อยู่ห่างคนอื่น เจอคนน้อย ๆ ลดละเลี่ยงกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อ 

 

สำหรับสถานการณ์ของไทยเราเน้นย้ำว่า การระบาดยังรุนแรงต่อเนื่อง กระจายไปทั่ว และยังไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ ไตรมาสสุดท้ายของปีจะเห็นการระบาดที่ทวีความรุนแรงขึ้นไปกว่าเดิม หากไม่ป้องกันให้ดี 

 

อ้างอิง

1. N Engl J Med 2021; 385:946-948.
2. N Engl J Med 2021;385:875-884.

 

ที่มา Thira Woratanarat