โควิด-19

สรุป "Antibody Cocktail" ยารักษาโควิด ต่อสู้เดลตา ข้อดี ผลข้างเคียง รู้เรื่อง

สรุป "Antibody Cocktail" ยารักษาโควิด ต่อสู้เดลตา ข้อดี ผลข้างเคียง รู้เรื่อง

19 ก.ย. 2564

ยาใหม่ "Antibody Cocktail" พลิกแนวทางการรักษาผู้ป่วย โควิด-19 ทำความรู้จัก ต่างกันอย่างไรกับวัคซีน ใช้อย่างไร เหมาะกับใคร ข้อดี ข้อควรระวัง ผลข้างเคียง สรุปรู้เรื่องที่นี่

"Antibody Cocktail" นวัตกรรมการรักษา ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในหลายประเทศ ตั้งแต่สหรัฐอเมริกา อินเดีย ญี่ปุ่น และ อังกฤษ โดยเฉพาะในปัจจุบัน (กันยายน 2564) ในประเทศสหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น ถือเป็นยาหลักตัวสำคัญ ที่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ เพื่อต่อสู้กับโควิดสายพันธุ์เดลตา ที่กำลังระบาดอย่างหนักอีกครั้ง ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทย อนุมัติให้ใช้แบบมีเงื่อนไขภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา

 

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

"Antibody Cocktail" คืออะไร

  • Antibody คือ สารจำพวกโปรตีนที่ร่างกายสร้างขึ้นในกระแสเลือด มีคุณสมบัติต่อต้านทำลายเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย
  • Cocktail คือ การผสม
  • Antibody Cocktail หมายถึง แอนติบอดี แบบผสม คือ การผสมกันระหว่างแอนติบอดี 2 ชนิด ได้แก่ Casirivimab (คาซิริวิแมบ) และ Imdevimab (อิมเดวิแมบ) ซึ่งผสมแล้วมีคุณสมบัติจำเพาะต่อการรักษา โควิด-19 ที่ให้ผลดีกว่าการใช้เพียงชนิดเดียว

 

ยารักษา กับ วัคซีน โควิด-19 ต่างกันอย่างไร

  1. วัคซีน ใช้สำหรับป้องกัน ฉีดให้คนที่ยังไม่ติดเชื้อ โควิด-19
  2. ยา ใช้สำหรับรักษาคนที่ติดเชื้อ โควิด-19 แล้ว

 

  • Antibody Cocktail เป็นยาตัวแรกที่ถูกคิดค้นเพื่อรักษา โควิด-19 มีความจำเพาะต่อเชื้อ Corona Virus โดยตรง
  • ฟาวิพิราเวียร์ เป็นยารักษาไข้หวัดใหญ่ คุณสมบัติออกฤทธิ์กว้าง จึงใช้ร่วมกับเชื้อไวรัสอื่น ๆ ได้ รวมถึง โควิด-19
  • ฟ้าทะลายโจร ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง เช่น เป็นไข้ ไอ เจ็บคอ

 

 

หลักการทำงานของ Antibody Cocktail

จัดอยู่ในกลุ่มยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ Neutralizing Monoclonal Antibodies (NmAbs) มีหลักการทำงาน คือ จะตรงเข้าจับกับโปรตีนตรงส่วนหนาม (Spike Protein) ทำให้ไวรัสที่เข้าสู่ร่างกายลดปริมาณลง ซึ่งจะสามารถส่งผลในการยับยั้งการติดเชื้อได้ทันที

Antibody Cocktail ใช้อย่างไร เหมาะกับใคร

Antibody Cocktail เป็นการให้ยาทางหลอดเลือดดำ ห้ามฉีดเข้าทางชั้นกล้ามเนื้อ (IM) หรือโดยการฉีดเข้าทางชั้นใต้ผิวหนัง (SC) และให้เพียงครั้งเดียวโดยบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งวินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยมีคุณสมบัติดังนี้

  • ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าติดเชื้อโควิด 19 (ไม่เกิน 10 วัน)
  • มีอาการจากโรคนี้ ตั้งแต่เล็กน้อยถึงปานกลาง
  • เป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการรุนแรงขึ้นได้เมื่อติดเชื้อ

 

ภูมิคุ้มกันจะอยู่ในร่างกายประมาณ 1 เดือน ซึ่งน่าจะได้ผลในเชิงการป้องกันสำหรับผู้ที่ติดแล้วมีอาการน้อยหรือปานกลาง จากการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมสำหรับคนที่ติดที่ไม่รุนแรง ทำให้ลดโอกาสในการที่เป็นโควิดแล้วอาการรุนแรง ลดโอกาสการเสียชีวิตได้ประมาณ 70% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้รับยาอะไรเลยหรือคนที่ได้รับยาหลอก หากได้ยา "Antibody Cocktail" จะช่วยลดเวลาการนอนพักรักษาตัวที่ รพ. ได้ประมาณ 4 วัน ในกลุ่มทำการทดลอง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เสี่ยงสูง ที่จะเกิดภาวะปอดอักเสบรุนแรงจากเชื้อโควิด ได้แก่

  1. ผู้สูงอายุ
  2. โรคอ้วน หรือภาวะน้ำหนักเกิน (BMI มากกว่า 30) 
  3. โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงภาวะความดันโลหิตสูง 
  4. โรคปอดเรื้อรัง รวมถึงโรคหอบหืด 
  5. โรคเบาหวาน
  6. โรคไตเรื้อรัง รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องฟอกไต 
  7. โรคตับเรื้อรัง 
  8. มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือภูมิคุ้มกันถูกกด จากผลการประเมินโดยแพทย์ผู้สั่งจ่ายยา

 

สรุปข้อดี ทำไมถึงต้องใช้ยา Antibody Cocktail

  • ช่วยให้ภูมิคุ้มกันสามารถลบล้างฤทธิ์ของเชื้อ ทำให้ไวรัสอ่อนกำลังลง
  • ช่วยลดระยะเวลาการรักษาตัวของผู้ป่วย
  • ลดอัตราผู้ป่วยที่เข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือ โอกาสการเสียชีวิตได้ประมาณ 70% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้รับยาอะไรเลย

หรืออาจกล่าวได้ว่า ยาชนิดนี้จะมาช่วยลดภาระวิกฤตการณ์เตียงเต็มภายในประเทศได้นั่นเอง

 

ข้อควรระวัง และผลข้างเคียงของ Antibody Cocktail

  • สำหรับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี และผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาดังกล่าว
  • หลังจากได้รับยาแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้ อาการส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งพบได้แต่น้อยมาก ได้แก่ อาการผื่นแพ้ อาการคล้ายหวัด คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือความดันต่ำ

 

อ้างอิง : covid19treatmentguidelines , rochepraram9