โควิด-19

หมอธีระ เตือนซ้ำ "เปิดประเทศ" ยังเสี่ยงเกินไป หากพลาดกระทบยาว - เจ็บหนัก

หมอธีระ เตือนซ้ำ "เปิดประเทศ" ยังเสี่ยงเกินไป หากพลาดกระทบยาว - เจ็บหนัก

20 ก.ย. 2564

หมอธีระ เตือนซ้ำ "เปิดประเทศ" เปิดการท่องเที่ยว ไทยยังเสี่ยงเกินไป ชี้หากพลาดส่งผลกระทบระยะยาวและหนักหนาสาหัส แนะดูตัวอย่าง สิงคโปร์ เจอระบาดซ้ำรุนแรงแม้ประชากร ฉีดวัคซีน แล้วกว่า 80%

วันที่ 20 กันยายน 2564 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ถึงสถานการณ์ "โควิด-19" ในประเทศไทย กรณี "เปิดประเทศ" เปิดการท่องเที่ยว ระบุว่า เมื่อวานจำนวนติดเชื้อใหม่ 13,576 คนที่รายงานนั้น ยังคงสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก 

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

แต่หาก รวมจำนวนที่ตรวจ ATK อีก 2,509 คน จะทำให้แซงขึ้นเป็นอันดับ 7 ของโลก เป็นรองเพียงแค่อเมริกา อินเดีย สหราชอาณาจักร ตุรกี รัสเซีย และฟิลิปปินส์เท่านั้น 

 

ด้วยความซับซ้อนของระบบสังคมที่เป็นอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดที่ยังรุนแรงต่อเนื่องดังที่เห็นในปัจจุบัน ทิศทางนโยบายที่มุ่งหน้าไปสู่การ เปิดท่องเที่ยว "เปิดประเทศ" โดยที่มีโรคระบาดในพื้นที่และระบบสนับสนุนที่จำเป็นยังมีข้อจำกัด ทั้งการเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองโรคมาตรฐาน การใช้วิธีตรวจทางเลือก "ATK" ที่อาจมีความไวไม่มากนักและเสี่ยงต่อการเกิดผลลบปลอมได้ รวมถึงเรื่องวัคซีน ทั้งเรื่องชนิดที่ใช้และปริมาณที่ยังไม่เพียงพอหรือครอบคลุม 

 

หมอธีระ ระบุต่อว่า ความเสี่ยงต่อการระบาดที่ทวีความรุนแรงขึ้นย่อมมีสูง ดังจะเห็นได้จากหลากหลายพื้นที่ที่กำลังเผชิญอยู่ ปัจจัยข้างต้นจะนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ที่จะมากขึ้นเรื่อย ๆ หากการระบาดเป็นไปอย่างต่อเนื่องหรือรุนแรงขึ้น และจะนำไปสู่ผลกระทบทุกมิติ ทั้งเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม 

 

 

สิ่งที่ต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด คือ ทั่วโลกขณะนี้มีการระบาดที่ชะลอตัวลงชัดเจน แต่จะเห็นได้ว่าประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ที่ได้เรียนรู้จากสงครามนี้มาเกือบสองปี มักจะเลือกตาเดินแบบระมัดระวังในการเปิดใช้ชีวิตและเปิดประเทศโดยเน้นให้จัดการควบคุมโรคให้มีจำนวนการติดเชื้อลดลงให้ได้ และเน้นการใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง และฉีดให้ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ในสังคมเสียก่อน 

 

บางประเทศฉีดครอบคลุมไปนานกว่า 6 เดือนก็เจอระบาดซ้ำจนต้องมาฉีดเข็มกระตุ้นซ้ำ เพราะความรู้ปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าระดับภูมิคุ้มกันจะค่อย ๆ ลดลงตามเวลาที่ผ่านไป หลังฉีดกระตุ้นก็พบว่าสามารถคุมโรคระบาดได้ดีขึ้นชัดเจน เช่น อิสราเอล สหรัฐอาหรับอีมิเรตส์ 

 

จะมีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่พยายามประกาศว่าจะใช้ชีวิตท่ามกลางโรคระบาด หรือ Living with COVID-19 เช่น สิงคโปร์ ไทย เป็นต้น 

 

โดยล่าสุดก็เห็นชัดเจนว่า สิงคโปร์ ประสบการระบาดซ้ำที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิมมาก แม้ได้รับวัคซีนกันไปกว่า 80% ของประชากรก็ตาม 

 

หันมามองไทยเรา จำเป็นต้องประเมินและยอมรับความจริงว่า หลายเรื่องยังไม่พร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ระบาดที่เป็นหลักหมื่นเช่นนี้ และเรื่องวัคซีนที่ไม่เพียงพอไม่ครอบคลุม จึงเสี่ยงเกินไปที่จะเปิดเมือง "เปิดประเทศ

 

"ตาเดินนี้ หากเดินพลาดจะมีโอกาสส่งผลกระทบยาวนาน และหนักหนาสาหัส" 

 

สำหรับ สถานการณ์ "โควิด-19" ทั่วโลก วันนี้ 20 กันยายน 2564 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 349,947 คน รวมแล้วตอนนี้ 229,260,555 คน ตายเพิ่มอีก 5,708 คน ยอดตายรวม 4,704,927 คน 

 

5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ อเมริกา อินเดีย สหราชอาณาจักร ตุรกี และรัสเซีย 

 

อเมริกา ติดเชื้อเพิ่ม 32,638 คน รวม 42,900,813 คน ตายเพิ่ม 309 คน ยอดเสียชีวิตรวม 691,878 คน อัตราตาย 1.6% 

 

อินเดีย ติดเพิ่ม 30,809 คน รวม 33,477,819 คน ตายเพิ่ม 296 คน ยอดเสียชีวิตรวม 445,165 คน อัตราตาย 1.3% 

 

บราซิล ติดเพิ่ม 9,458 คน รวม 21,239,783 คน ตายเพิ่ม 239 คน ยอดเสียชีวิตรวม 590,786 คน อัตราตาย 2.8% 

 

สหราชอาณาจักร ติดเพิ่ม 29,612 คน ยอดรวม 7,429,746 คน ตายเพิ่ม 56 คน ยอดเสียชีวิตรวม 135,203 คน อัตราตาย 1.8% 

 

รัสเซีย ติดเพิ่ม 20,174 คน รวม 7,274,928 คน ตายเพิ่ม 793 คน ยอดเสียชีวิตรวม 198,218 คน อัตราตาย 2.7% 

 

อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิหร่าน อาร์เจนติน่า และโคลอมเบีย ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น 

 

หากรวมทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ พบว่ามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 93.11 ของจำนวนติดเชื้อใหม่ทั้งหมดต่อวัน 

 

แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน 

 

แถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านติดเพิ่มหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย ติดเพิ่มกันหลักหมื่น 

 

ญี่ปุ่น เมียนมา อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ติดกันหลักพัน กัมพูชาและลาวติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ไต้หวัน และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกงติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ 

 

ที่มา Thira Woratanarat