ก้าวไปด้วยกันกับกรมการปกครองสู้ภัย "โควิด -19"
ก้าวไปด้วยกันกับกรมการปกครองสู้ภัย "โควิด -19" ป้องกันและลดการแพร่ระบาด ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
จากสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ "โควิด -19 " มาตั้งแต่เดือน เมษายน 2564 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ได้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำนวนยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่สะสมที่มาจากกลุ่มหลักประกอบด้วย กลุ่มผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวัง การค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน และกลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำ มีมากกว่า 20,000 คนต่อวัน เช่นเดียวกับยอดผู้เสียชีวิตในแต่ละวันมากกว่า 200 ราย และหลายครั้งขึ้นระดับนิวไฮ(new high)
ทั้งนี้หลายเหตุการณ์ที่ปรากฎสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้คนในสังคมอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นความสูญเสียบุคคลในครอบครัวอย่างกะทันหัน ภาพความผลัดพราก การจากลา หรือแม้แต่การทำหน้าที่ของบุคลากรด่านหน้าจนกลายเป็นผู้ป่วยเสียเอง
จะเห็นได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค "โควิด – 19" ในครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมและวิถีชีวิตพี่น้องประชาชนในทุกด้าน ทุกมิติ
กรมการปกครอง มีบุคลากรปฏิบัติหน้าที่กระจายอยู่ทั้ง 878 อำเภอทั่วประเทศ ทำงานใกล้ชิดกับประชาชน จนเห็นและเข้าใจถึงความทุกข์ยากที่เกิดขึ้น ด้วยปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” จึงถือเป็นหน้าที่และภารกิจสำคัญในการดำเนินการบริหารจัดการสถานการณ์ในระดับพื้นที่ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยมีประสิทธิภาพ
นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง เปิดเผยว่าได้มอบเป็นนโยบายสำคัญในการปฏิบัติงานของฝ่ายปกครองให้เป็นไปอย่างเคร่งครัดตามนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ร่วมเป็นหนึ่งในพลังสำคัญเพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค "โควิด – 19"
ด้วยถือเป็นภารกิจที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนงานของกรมการปกครอง ภายใต้แนวคิด หน้าที่ของฝ่ายปกครอง คือ ทำให้ประชาชนทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ตามนโยบาย 10 Flagships to DOPA New Normal 2021 ที่ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญในการเป็น“เรือธง” นำทาง
คือ หนึ่งการส่งเสริมสถาบันหลักของชาติ สอง การยกระดับงานบริการ และสามการสร้างความเข้มแข็งระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ โดยกรมการปกครองได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดผลงานเป็นที่ประจักษ์
นายธนาคม เผยต่อว่าโดยเฉพาะในห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นี้ กรมการปกครองได้เริ่มตั้งแต่การจัดตั้ง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมการปกครอง หรือ ศบค.ปค. ขึ้น ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการป้องกันและลดการแพร่ระบาด และช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
มีแนวทางการทำงานใน 2 มิติ ทั้งเชิงนโยบายสำคัญ(Agenda) โดยการสนับสนุนการดำเนินการตามข้อสั่งการของ ศบค.และกระทรวงมหาดไทยเชิงภารกิจและพื้นที่(Function & Area)โดยการอำนวยการ ประสานงาน และสนับสนุนการบริหารจัดการสถานการณ์ในพื้นที่โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมการปกครอง หรือ ศบค.ปค. ได้อำนวยการสนับสนุนบริหารจัดการสถานการณ์ เป็น 3 ส่วนหลัก
โดยส่วนที่หนึ่งการบริหารจัดการสถานการณ์ เพื่อควบคุมการเดินทาง เคลื่อนย้ายของประชาชน (Mobility) โดยการเฝ้าระวัง ป้องกันไม่ให้มีการลักลอบเดินทางเข้าราชอาณาจักรอย่างผิดกฎหมาย
ได้แก่ การดูแลพื้นที่ชายแดนใน 128 อำเภอ 31 จังหวัด 23 ด่านทั่วประเทศ และช่องทางธรรมชาติต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง โดยกำชับกลไกระดับพื้นที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน โดยเพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวัง ตรวจตรา และสอดส่องดูแล จัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ในพื้นที่ชายแดนอย่างเข้มงวด มิให้มีการลักลอบเข้าประเทศ และการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวโดยผิดกฎหมาย
เราได้มีการตั้งด่านจุดตรวจ จุดสกัด ดูแลการเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัด จำนวน 1,319 ด่านตรวจทั่วประเทศ ดำเนินการสำรวจ ตรวจสอบ และตรวจคัดกรองผู้เดินทางเข้าสู่หมู่บ้าน/ชุมชนทุกคน โดยการบันทึกข้อมูลในระบบ“Thai QM 2021” (Thai Quarantine Monitor) เพื่อเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Base) ในการติดตาม เฝ้าระวังกลุ่มบุคคลดังกล่าว ใช้ในการสอบสวนโรคในกรณีที่พบว่า ผู้เดินทางดังกล่าวติดเชื้อ และใช้ในการประเมินสถานการณ์เป็นสำคัญ
อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการปฏิบัติงานและบริหารสถานการณ์ฯ ใน “พื้นที่ควบคุมสูงสุด”หรือ“พื้นที่ควบคุม” ในภารกิจของ “ศบค.มท.ส่วนหน้า” ด้วยกำลังพลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน
และการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการปฏิบัติงาน ตามแผนการเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติของภูเก็ต (Phuket Tourism Sandbox) ด้วยการสนับสนุนกำลังพลรวมกับหน่วยงานพื้นที่ในการคัดกรองประชาชนและนักท่องเที่ยว มีการสนับสนุนมาตรการกักกันตัวผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศในสถานกักกันโรคแห่งรัฐและทางเลือก และอำนวยความสะดวกในการรับผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาและเข้ากักกันสถานกักกันโรคท้องที่ในพื้นที่จังหวัด
นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการเฝ้าระวังและป้องกันการลักลอบเล่นการพนัน เปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่ฝ่าฝืนกฎหมายหรือฝ่าฝืนมาตรการควบคุมโรคตามที่กำหนด รวมทั้งโรงแรมที่พักให้เป็นไปตามมาตรการอย่างเคร่งครัดและการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริการประชาชนเกี่ยวกับงานทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชนรูปแบบใหม่ ให้เป็นไปตามมาตรการ (New Normal) อย่างเคร่งครัด
โดยเน้นหลักเกณฑ์ 5 ส่วนสำคัญ คือ (1) ก่อนเข้ารับบริการ (2) ขณะเข้ารับบริการ (3) สถานที่ให้บริการ (4) เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการและ (5) การติดตามประเมินผลและกระตุ้นเตือนการใช้ชีวิตของผู้คนในการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุค “ชีวิตวิถีใหม่”ภายใต้มาตรการ DMHTTA โดยใช้กลไกของหมู่บ้าน
นายธนาคม ย้ำด้วยว่าสำหรับส่วนที่สอง การบรรเทาผลกระทบและช่วยเหลือเยียวยาประชาชน โดยการสนับสนุนการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว โดยจัดทำทะเบียนประวัติและออกเอกสารบัตรประจำตัวของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) มีการการยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน และการขยายกำหนดเวลาการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน
นอกจากนี้มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม โดยกระทรวงมหาดไทย ได้ออกกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2563 สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมได้ เฉลี่ยต่อปีคิดเป็นเงิน 31,354,200 บาท โดยพิจารณาจากจำนวนห้องพักของโรงแรม (ข้อมูล ณ กรกฏาคม 2564)
ขณะเดียวกันมีการอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือการรับลงทะเบียนโครงการตามนโยบายของรัฐบาล “เราชนะ” สำหรับประชาชนกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ โดยการจัดชุดเคลื่อนที่ให้บริการเชิงรุกถึงครัวเรือน จำนวน 1,161,571 คน
มีการจัดทำระบบตรวจสอบสถานะบัตรประจำตัวประชาชน (Check Card Status) เพื่อตรวจสอบข้อมูลสถานะบัตรประจำตัวประชาชนผ่านระบบเว็บเซอร์วิสแบบออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการยืนยันตัวตนของประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน
โดยดำเนินการตรวจสอบภาพใบหน้า ให้กับสำนักงานเศรษฐกิจการคลังรวมทั้งหมด 1,843,537 รายการ (ข้อมูล ณ กรกฏาคม 2564) พร้อมกำชับการปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอ โดยเฉพาะในกรณีมีผู้ป่วยเสียชีวิตในพื้นที่ โดยให้นายอำเภอ หรือบุคคลซึ่งนายอำเภอมอบหมายจะต้องเข้าควบคุม และตรวจสอบพื้นที่ในเบื้องต้นด้วยความรวดเร็ว พร้อมทั้งเร่งประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ดำเนินการโดยเร่งด่วน เพื่อให้ผู้เสียชีวิตได้รับการจัดการตามขั้นตอนต่อไป
ส่วนที่สามเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมประเทศ เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านรายได้ของประชาชน จากการถูกเลิกจ้าง หรือมีรายได้ที่ลดลง ส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภายในครัวเรือน ผ่านโครงการจ้างลูกจ้างเหมาบริการ 1 คน 1 ตำบล ร่วมใจ ต้านภัย COVID-19
และโครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ (Tambon Smart Team) ดำเนินการจ้างงานประชาชนในทุกตำบล เพื่อเก็บข้อมูลในระดับหมู่บ้านเป็นฐานข้อมูลบูรณาการ (Village Big Data Base) สำหรับใช้วางแผนพัฒนาพื้นที่ในทุกระดับ และเป็นฐานข้อมูลในลักษณะเปิด (Opened-data system)ให้ทุกภาคส่วนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยดำเนินการจ้างงานตำบลละ2 คนรวม14,510 คนระยะเวลาการจ้าง 12 เดือน อธิบดีกรมการปกครอง กล่าว
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค "โควิด – 19" ที่ยังคงวิกฤติ ถือเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตคนไทยที่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง กรมการปกครอง จึงขอเป็นหนึ่งพลังสำคัญของการทำหน้าที่และให้ความช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถ พร้อมทั้งขอเป็นกำลังใจแก่พี่น้องประชาชน ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานด่านหน้า ได้ร่วมกันก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน แบบการ์ดไม่ตก ด้วยการปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคล D-M-H-T-T-A จนกว่าทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติสุข