เช็คอัปเดตสูตร "วัคซีนโควิด" ไทย มีกี่แบบ ทั้งไขว้-บูสเตอร์ แถมมาใหม่ SV+PFZ
ปัจจุบัน ประเทศไทยเริ่มมีการปรับสูตร "วัคซีนโควิด" ใช้ หลายรูปแบบ ทั้งแบบไขว้ และบูสเตอร์ แถมล่าสุด สธ.อนุมัติสูตรใหม่เพิ่มอีก มีอะไรบ้างเช็คกันเลย
หากสูตรฉีดวัคซีน COVID-19 ในประเทศไทยปัจจุบัน เริ่มมีการปรับสูตรใช้แพร่หลาย มีทั้งแบบไขว้ในเข็ม 1 และเข็ม 2 รวมทั้งแบบบูสเตอร์เข็ม 3 จนหลายคนอาจสับสนว่า สรุปแล้วประเทศไทย ขณะนี้ มีวัคซีนสูตรไหนใช้แล้วบ้าง และถ้าฉีดตัวนี้ไป จะไปต่อที่สูตรไหนได้บ้าง นอกจากนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ยังได้อนุมัติวัคซีนป้องกัน COVID-19 สูตรไขว้เพิ่มเติม "คมชัดลึกออนไลน์" จึงสรุปมาให้ดูว่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทย มีแผนการฉีดวัคซีนอะไรบ้าง
1. Sinovac
- Sinovac+Sinovac
- Sinovac+AstraZeneca (เว้นห่าง 3 สัปดาห์)
- Sinovac+Pfizer (เว้นห่าง 3-4 สัปดาห์)
- Sinovac+Sinovac+AstraZeneca
- Sinovac+Sinovac+Pfizer
ฉีดให้กับประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป , ผู้สูงอายุ , กลุ่มเสี่ยงอย่างผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง และบุคลากรด่านหน้า ซึ่งคนที่ได้วัคซีน Sinovac ไปแล้ว จะได้รับ
การบูสเพิ่มเติมด้วยวัคซีน AstraZeneca หรือ Pfizer เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรค
2. Sinopharm
- Sinopharm+Pfizer
- Sinopharm+AstraZeneca
- Sinopharm+ Sinopharm
- Sinopharm+Sinopharm+Pfizer (กระตุ้นได้หลังฉีดเข็มที่ 2 ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป)
- Sinopharm+Sinopharm+AstraZeneca (กระตุ้นได้หลังฉีดเข็มที่ 2 ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป)
สำหรับการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ใน Sinopharm นั้น นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธินโฆษก ศบค. ระบุว่า ให้ใช้หลักเดียวกับ Sinovac แต่ยังไม่ใช่สูตรหลักในประเทศ เพราะต้องรอข้อมูลเพิ่มเติม ดังนั้น การฉีดสูตรไขว้ใน Sinopharm เป็นไปตามเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนของ อย. ตามความสมัครใจของผู้รับวัคซีน และดุลพินิจของผู้ให้บริการ ขณะที่ ระยะเวลาในการฉีดเข็มที่ 3 นั้น ก็ค่อนข้างรวดเร็ว โดย นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า กระตุ้นได้หลังฉีดเข็มสองไปแล้ว 4 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน ต่างจากการบูสในวัคซีนยี่ห้ออื่น ที่รอเวลาเป็นอย่างน้อย 6 เดือนหลังฉีดครบ 2 เข็ม จึงจะฉีดเข็มที่ 3 ได้
3. AstraZeneca
- AstraZeneca+AstraZeneca
- AstraZeneca+Pfizer (เว้นห่าง 4-12 สัปดาห์)
- AstraZeneca+AstraZeneca+Pfizer (เว้นห่าง 6 เดือน)
การฉีด AstraZeneca นั้น หลายประเทศแนะนำให้ใช้กับผู้สูงอายุ เพราะมีข้อกังวลถึงผลข้างเคียงเรื่องลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งเกิดในผู้หญิงอายุน้อย แต่ประเทศไทยให้ใช้กับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปได้
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ศบค.อนุมัติในหลักการให้กับผู้ที่ได้ฉีดวัคซีน AstraZeneca ครบ 2 เข็มว่า สามารถกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วย Pfizer ได้ แต่การนำไปใช้ ต้องขึ้นกับสถานการณ์ เนื่องจากเป็นวัคซีนที่รัฐจัดหา ต้องบริหารจัดการสอดคล้องกับปริมาณวัคซีนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
4. Pfizer
- Pfizer+Pfizer (เว้นห่างกัน 3 สัปดาห์)
เน้นฉีดให้กับเด็กอายุ 12-18 ปี โดยเด็กผู้ชายจะยังได้ฉีดแค่ 1 เข็มก่อน และอยู่ในช่วงพิจารณาวัคซีนเข็มที่ 2 ให้
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2564 นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรค และภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระบุว่า เนื่องจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า อาจมีการส่งมอบที่ไม่ตรงตามจำนวนในบางครั้ง ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาวัคซีนขาดตอน คณะกรรมการวิชาการ และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จึงเห็นชอบสูตรการฉีดวัคซีนไขว้แบบใหม่ คือ Sinovac - Pfizer เพื่อรองรับสถานการณ์ที่วัคซีน AstraZeneca ขาดแคลน
ในส่วนของสูตรการฉีดวัคซีนสูตรใหม่อีกสูตร ก็คือ AstraZeneca - Pfizer คณะกรรมการวิชาการเห็นชอบให้ใช้ได้ ในกรณีที่มีความจำเป็นเท่านั้น เช่น ในกรณีที่มีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในกลุ่มเป้าหมายครบถ้วนแล้ว แต่มีวัคซีนค้างอยู่ที่จังหวัด ซึ่งขณะนั้น หากมีผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเข็มแรก ก็สามารถรับวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 ได้ หรือในกรณีที่ต่างประเทศ พบการแพ้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จึงมีการพิจารณาให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 ได้
ทั้งนี้ สูตรการฉีดวัคซีนดังกล่าวมีความปลอดภัย เนื่องจากได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) แล้ว อย่างไรก็ดี สูตรการฉีดวัคซีนซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า ยังคงเป็นสูตรการฉีดวัคซีนหลักของประเทศ