ลุ้นอีก "โอไมครอน" พบหลักฐานใหม่ น่ากังวล อาจเป็นตัวหลักครองพื้นที่ต่อไป
นักไวรัสวิทยา พบหลักฐานเวอร์ชั่นใหม่ โควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" น่ากังวล อาจเป็นตัวหลัก ครองพื้นที่ต่อไป แถมยังไม่นิ่ง เปลี่ยนได้อีก
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์เฟซบุ๊ค ให้ข้อมูลการศึกษา โควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" พบข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจว่า ที่ตำแหน่งที่ 681 ของกรดอะมิโนบนโปรตีนหนามสไปค์ ของไวรัสโรคโควิด-19 เป็นตำแหน่งที่นักไวรัสสนใจเป็นพิเศษ ส่วนตัวแล้วเวลาเกิดสายพันธุ์ใหม่ ผมจะมองไปที่ตำแหน่งนี้เป็นตัวแรกเลย เพราะถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงไวรัสตัวนี้ จะน่าสนใจขึ้นมาทันที การเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่งนี้ ซึ่งปกติเป็นกรดอะมิโนชื่อ Proline จะทำให้โปรตีนสไปค์ถูกตัด และเปลี่ยนรูปร่างติดเชื้อเข้าสู่เซลล์ได้ง่ายขึ้น ในเดลตา ตำแหน่งนี้เปลี่ยนไปเป็น Arginine เรียกง่าย ๆ ว่า P681R ซึ่งชัดเจนจากงานวิจัยจากหลายแล็บว่า นี่คือสาเหตุต้น ๆ ที่ทำให้เดลตาเป็น VOC ที่ครองพื้นที่มายาวนาน
ดร.อนันต์ ระบุว่า ตอนที่ดูการเปลี่ยนแปลงของ "โอไมครอน" ส่วนตัวยังเบาใจนิด ๆ ว่า 681 ของ "โอไมครอน" ยังไม่ใช่ P681R แต่เป็น P681H ซึ่งเป็นการ
เปลี่ยนแปลงที่พบในสายพันธุ์อัลฟ่า ที่แพร่ได้น้อยกว่าเดลตา ทำให้คิดว่าคงมีอะไรบางอย่างที่ทำให้ P681R ไม่เหมาะกับ "โอไมครอน" แต่วันนี้นั่งอ่านโพสต์หนึ่ง ในวงที่นักไวรัสวิทยานั่งคุยกัน มีคนชี้ว่า P681R เป็นไปได้ใน "โอไมครอน" และ พบแล้วในตัวอย่างที่แอฟริกาใต้ บางคนเริ่มกังวลว่า ไวรัส "โอไมครอน" เวอร์ชั่นนี้จะเป็นตัวหลักต่อไปอีกหรือไม่
ถึงตรงนี้คงต้องบอกว่า ไวรัสที่มี P681R ไม่ใช่ทุกตัวจะไปรอด ยกตัวอย่างคือ Kappa ซึ่งเป็นพี่ชายของเดลตา ตอนช่วงอินเดียระบาดใหม่ ๆ สายพันธุ์นี้
รู้จักกันในชื่อ Double mutant ก็มี P681R เหมือนกัน แต่ก็โตสู้น้องเดลตาไม่ได้ และ ปัจจุบันน่าจะเหลือน้อยมาก ๆ แล้ว ตอนนี้ต้องลุ้นว่า "โอไมครอน"ที่มี P681R จะเป็นอย่างไร "โอไมครอน" วันนี้ ไม่นิ่งยังคงเปลี่ยนต่อไปเรื่อย ๆ