"โอไมครอน" ข้อมูลใหม่ แพร่เร็วแทน "เดลตา" แน่ แต่ลดรุนแรง เป็นโรคประจำถิ่น
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลศิริราช เผยข้อมูลใหม่ "โอไมครอน" แพร่เร็วแทนที่ "เดลตา" แน่นอน แต่ลดระดับความรุนแรง กลายเป็นโรคประจำถิ่น อีก 2-3 สัปดาห์รู้ผล
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลศิริราช รายงานความคืบหน้า การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" โดยยกผลการวิจัยของ Dr. John L. Campbell ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลในโซเชียลมีเดียของอังกฤษ ซึ่งได้รับความสนใจในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ของ COVID-19 สำหรับวิดีโออธิบาย และข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับไวรัส ดร. แคมเบล สรุปประเด็นของโรคโควิด-19 ซึ่งอ้างอิงจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้เป็นหลัก
โดย ดร.แคมเบล สรุปประเด็นของ "โอไมครอน" ไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งตรงกันหลายประเด็น ที่ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้คือ วัคซีนเชื้อตายอาจช่วยปกป้องการติดเชื้อ "โอไมครอน" ได้ดีหรือไม่? เพราะเป็นการใช้เชื้อไวรัสทั้งตัว เข้ากระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งแม้จะกระตุ้นภูมิไม่สูง เมื่อเทียบกับวัคซีนประเภทอื่น แต่จะกระตุ้นให้เกิดแอนติบอดีมากมายกว่า 20 ชนิด ต่างจากการใช้วัคซีนที่มีไวรัสเป็นพาหะ หรือวัคซีน mRNA ซึ่งภูมิจะขึ้นสูงกว่า แต่จะจำเพาะเจาะจงเฉพาะส่วน "หนาม" เพราะใช้เพียงส่วนหนามเข้ากระตุ้นภูมิเท่านั้น ดังนั้นหากติดเชื้อ "โอไมครอน" ที่ส่วนหนามเปลี่ยนไป อาจทำให้แอนติบอดีในร่างกายเรา ที่สร้างจากการกระตุ้นเพียงส่วนหนาม
(จากวัคซีนไวรัสพาหะ และวัคซีน mRNA) ลดประสิทธิภาพในการป้องกัน "โอไมครอน" ลงได้
และกรณีไวรัสกลายพันธุ์ จนสามารถแพร่ติดต่อได้อย่างรวดเร็ว (high transmissibility) ก็มักจะทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยที่ไม่รุนแรง (mild symptom) โดยไวรัสเองจะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีน (immune escape) ได้ลดลงเช่นกัน เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นมาแล้วกับสายพันธุ์ "บีตา" ซึ่งเป็นไวรัสโคโรนา 2019 ที่หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดี (immune escape) แต่แพร่ติดต่อได้ไม่ดี จนถูก สายพันธุ์ "เดลตา" ซึ่งแพร่ติดต่อได้รวดเร็วกว่า (more transmissibility) เข้ามาแทนที่ โดย "เดลตา" เอง แม้จะแพร่ติดต่อได้ดี แต่หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ไม่ดีนัก หากคาดการณ์สถานการณ์ที่เป็นไปอย่างดีที่สุด โชคดีที่สุดที่ควรเป็นไปได้ (Best case scenario) "โอไมครอน" ซึ่งมีการกลายพันธุ์ไปมาก
และจากข้อมูลล่าสุดพบว่า สามารถแพร่ติดต่อระหว่างคนสู่คนได้รวดเร็วกว่า "เดลตา" จะเข้ามาแทนที่เดลตาอย่างรวดเร็วในที่สุด โดยผู้ติดเชื้อไม่มีอาการรุนแรง (mild symptom) ทำให้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ เกิดภูมิคุ้มกัน โดยไม่ล้มเจ็บต้องเข้าโรงพยาบาล หรือเสียชีวิต การระบาดของ "โอไมครอน" หากเข้ามาแทน "เดลตา" ได้สำเร็จ อาจช่วยลดระดับความรุนแรงของการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งแพร่ระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) กลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ที่มีอาการลดลงในที่สุด คล้ายกับการวัคซีนชนิดเชื้อเป็น แต่อ่อนฤทธิ์ (live-attenuated vaccine) ซึ่งเราน่าจะได้คำตอบภายใน 2-3 อาทิตย์ว่าบทสรุปแนวทางนี้ถูกต้องหรือไม่