"สายพันธุ์โอไมครอน" อาการน้อยแยกยาก แต่แพร่ระบาดได้เร็วกว่า 2-5 เท่า
กรมควบคุมโรค เผย "สายพันธุ์โอไมครอน" อาการน้อยแยกยาก แต่แพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น 2-5 เท่า ชี้ เคสแรกในไทย ผู้ป่วยมีอาการน้อย กำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล
กรมควบคุมโรค เผย "สายพันธุ์โอไมครอน" อาการน้อยแยกยาก แต่แพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น 2-5 เท่า ชี้ เคสแรกในไทย ผู้ป่วยมีอาการน้อย กำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์และความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โอมิครอนว่า การกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 พบมาตลอด สิ่งที่สำคัญมีอยู่ 4 ประการหลังกลายพันธุ์แล้ว คือ 1.แพร่ระบาดได้เร็วขึ้น 2.ความรุนแรงมากขึ้น 3.ดื้อต่อการรักษา และ 4.ทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลงอย่างมีนัยยะสําคัญ
ซึ่งขณะนี้รูปแบบของโควิด-19 ใกล้เคียงโรคไข้หวัดใหญ่ เมื่อระบาดไปเยอะแล้วจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ความรุนแรงของโรคเหมือนจะลดน้อยลง สำหรับสายพันธุ์ "โอไมครอน" องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตแม้แต่รายเดียว รุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้าค่อนข้างมาก ทั้งนี้ เนื่องจากสายพันธุ์นี้แพร่ระบาดได้เร็วกว่า 2-5 เท่า ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย แต่แยกยากจากสายพันธุ์อื่น
มาตรการป้องกันที่สำคัญ ต้องฉีดวัคซีนโควิดให้ครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งประเทศไทยฉีดวัคซีนแล้วกว่า 95 ล้านโดส เข็มที่ 1 ฉีดแล้วเกิน 75 เปอร์เซนต์ เข็มที่ 2 เกินกว่า 60 เปอร์เซนต์ ส่วนบูสเตอร์โดสให้รอประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง ว่าให้ฉีดในช่วงไหน คาดว่าภายในเดือนธันวาคมถึงมกราคม จะเร่งฉีดบูสเตอร์ให้ประชาชนได้มากที่สุด
"สำหรับเคสที่ยืนยันว่าเป็นรายแรกของสายพันธุ์โอมิครอน เป็นเพศชายอายุ 35 ปี เป็นนักธุรกิจสัญชาติอเมริกาอาศัยอยู่ในสเปนมา 1 ปี เดินทางมาประเทศไทยวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 และเข้ารับการตรวจอีกครั้ง ได้รับรายงานว่าพบเชื้อเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 พบค่าตรวจ CT ค่อนข้างสูง และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการน้อยมาก ปฏิเสธโรคประจำตัว ไม่มีประวัติการตรวจพบเชื้อมาก่อน ผลต่างๆ ปกติ จากการตรวจสอบไม่พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง" นายแพทย์โอภาส กล่าว
นายแพทย์โอภาส กล่าวอีกว่า นอกจากวัคซีนแล้ว มาตรการป้องกันส่วนบุคคลเพื่อป้องกันตัวเอง ขั้นสูงสุด (Universal Prevention) สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ยังเป็นมาตรการที่สำคัญ รวมถึง Covid Free Setting และการตรวจ ATK ยังเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องขอความร่วมมือจากประชาชน พร้อมกับยกระดับการเฝ้าระวังที่ช่องทางเข้าออกประเทศและสถานที่ท่องเที่ยว การเดินทางแบบ Test and Go แม้ว่าจะมีผลตรวจยืนยันเป็นลบก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมง เมื่อเข้าประเทศไทยจะใช้วิธี RT-PCR อีกครั้ง ในการคัดกรองผู้ติดเชื้อ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี
ส่วนผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มก้อน Cluster ผู้เดินทาง หรือรายที่น่าสงสัย จะต้องส่งตัวอย่างเชื้อไปตรวจหาสายพันธุ์ "โอไมครอน" ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อย่างไรก็ตาม ขอเน้นย้ำให้ประชาชนมั่นใจว่า กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศ มีมาตรการรองรับสายพันธุ์ดังกล่าวได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422