รู้จักภาวะ "Long COVID" หมอเตือนให้เฝ้าระวังอีกครั้ง เหตุกระทบชีวิตระยะยาว
รู้จัก "Long COVID" ภาวะคงค้างหลังติดโควิด หมอเตือนให้เฝ้าระวังอีกครั้ง หลังสถานการณ์มีแนวโน้มกลับมาระบาดหนักเพราะ "โอไมครอน" แม้อาการไม่มากแต่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตระยะยาว
ช่วงที่ผ่านมาภาวะคงค้างจากโควิด-19 หรือ "Long COVID" กลายมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังจากที่เกิดภาวะดังกล่าวกับลูกชาย "มอร์ กระจาย" ประกอบกับนักวิชาด้านการแพทย์ และสาธารณาสุขได้ออกมาย้ำเตือนให้เฝ้าระวังภาวะ "Long COVID" ในผู้ติดเชื้อที่หายป่วยแล้ว เพราะจากข้อมูลพบว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้มากถึง 30-50 % ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่มากพอสมควร วันนี้ "คมชัดลึกออนไลน์" จะพาไปทำความรู้จักกับภาวะ "Long COVID" กันอีกครั้ง รวมไปถึงภาวะ "Long COVID" ที่เกิดขึ้นในเด็กหรือที่เรียยกว่า อาการ "มิสซี" MIS-C (Multisystem inflammatory syndrome in children) หรือกลุ่มอาการอักเสบของหลาย ๆ ระบบในร่างกาย
"Long COVID" หรือ อาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19 ในระยะยาว เนื่องจากในขณะที่ป่วยโควิด-19 ร่างกายมีการสร้างแอนติบอดีบางอย่างขึ้นมา และไปจับกับโปรตีนเซลล์ของอวัยวะบางส่วนในร่างกาย และไปทำลายอวัยวะส่วนต่าง ๆ อาการ โดยภาวะ Long COVID จะเป็นอาการเจ็บป่วยที่ไม่มีลักษณะตายตัว ต่างกันในแต่ละบุคคล ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย ตั้งแต่ระบบหายใจ ระบบประสาท,ระบบทางเดินอาหาร หัวใจและหลอดเลือด ทำให้ผู้ที่หายป่วยบางรายยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ 30-50% จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่รักษาหายแล้ว
อาการที่พบบ่อยในผู้ที่เกิดภาวะ "Long COVID" คือ เหนื่อยล้า, หายใจไม่อิ่ม, ปวดกล้ามเนื้อ, ไอ,ปวดหัว, เจ็บข้อต่อ,เจ็บหน้าอก, การรับรู้กลิ่นเปลี่ยนไป, อาการท้องร่วง และการรับรสเปลี่ยนไป
ในบางรายที่มีอาการมากอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อน
- ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
- มีปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด
- ไตวายเฉียบพลัน
- ตับอักเสบเฉียบพลัน
- ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท
- ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
กลุ่มเสี่ยงที่อาจจะพบภาวะ Long COVID
ผู้สูงอายุ
ผู้ทีมีภาวะอ้วน
ผู้ที่มีโรคประจำตัว
ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ
ผู้มีในขณะติดเชื้อโควิด-19 มีอาการรุนแรง
ส่วนภาวะคงค้างของโควิด-19 ในเด็ก หรือ อาการ "มิสซี" MIS-C (Multisystem inflammatory syndrome in children)
ภาวะดังกล่าวสามารถพบได้ในเด็กทุกกลุ่มอายุ เป็นอาการที่เกิดหลังจากหายโควิดไปแล้ว 2-8 สัปดาห์ ถือว่าเป็นกลุ่มอาการอุบัติใหม่ที่พบในเด็ก ซึ่งร่างกายมีการอักเสบหลายระบบหลังจากมีการติดเชื้อโควิด-19 สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อเชื้อไวรัสนี้ที่มากเกินไป ทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายหลายระบบตามมา
อุบัติการณ์ดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ ประมาณ 0.02% ของผู้ป่วยเด็กที่เป็นโควิด
อาการ MIS-C เบื้องต้น
ไข้ ผื่น ตาแดง อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว อาจมีภาวะช็อคที่เกิดจากการอักเสบที่หัวใจ หรือหลอดเลือดหัวใจโป่งพองซึ่งเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ ร่วมกับการตรวจพบเชื้อหรือภูมิคุ้มกันหรือประวัติสัมผัสเชื้อโควิด ส่วนการอักเสบของหัวใจพบได้ 35-100% อาจมีอาการรุนแรงจนจำเป็นต้องรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต ภาวะนี้ควรได้รับการรักษาด้วยอิมมูโนโกลบูลินและยากดภูมิคุ้มกัน