เปิดไทม์ไลน์ หญิงไทยประเดิมติดเชื้อ "โอไมครอน" ภายในประเทศรายแรก
สธ.แถลง ไทยประเดิม ติดเชื้อ "โอไมครอน" ภายในประเทศรายแรก เป็นหญิงไทย ติดจากสามีนักบินชาวโคลัมเบีย จ่อยกระดับยกเลิก Test and Go
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์ "โอไมครอน" โดยเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้พบการระบาดแล้ว 98 ประเทศ เพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ขณะนี้ ประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศ เป็นหญิงอายุ 49 ปี ติดเชื้อจากสามี ซึ่งเป็นนักบินชาวโคลัมเบีย เดินทางจากไนจีเรีย เข้าประเทศไทย ในระบบแซนด์บ็อกซ์ ตั้งแต่ช่วงวันที่ 26 พ.ย. 64 พักอาศัยอยู่กับภรรยา ซึ่งได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาครบ 2 เข็ม ถือเป็นผู้ติดเชื้อ "โอไมครอน" รายแรกในประเทศไทย แต่ยังไม่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนภายในประเทศ
ไทม์ไลน์ 2 สามี-ภรรยา
ผู้ป่วยชาวโคลอมเบีย (สามี) อายุ 62 ปี อาชีพนักบิน โรคประจำตัว DM มีประวัติรับวัคซีนแอสตราเซนเนก้า (Astrazeneca) 2 เข็ม ล่าสุด 1 ก.ค. 2564 ที่ในจีเรีย
ผู้ติดเชื้อคนไทย (ภรรยา) อายุ 49 ปี ไม่มีโรคประจำตัว พักอาศัยกับสามีเป็นผู้ป่วยยืนยันสายพันธุ์โอมิครอน ตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2564 มีประวัติฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา 2 เข็ม ล่าสุดเมื่อ 5 พ.ย. 2564
- 26 พ.ย. 2564 เดินทางจากในจีเรียกลับไทย ตรวจ RT-PCR ผลเป็นลบ และเข้าพักในโรงแรมแห่งหนึ่งใน กทม. เข้าระบบ Sand box
- 29 พ.ย. 2564 ไปตรวจตาที่โรงพยาบาล A สวมหน้ากากตลอด เช่ารถมอเตอร์ไซค์ขับขี่เอง ซื้อของร้านค้าใกล้โรงแรม ขี่รถไปทานข้าวเที่ยงที่ห้าง
- 30 พ.ย. 2564 อยู่โรงแรมตลอด
- 1 ธ.ค. 2564 ขี่รถมอเตอร์ไซค์ ไปฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) เข็ม 3 ที่ รพ.B หลังจากฉีด มีไข้ ตัวร้อน
- 2 ธ.ค. 2564 ตรวจ ATK ที่โรงแรมผลเป็นลบ แต่เนื่องจากยังมีไข้ จึงไปพบแพทย์ที่ รพ. A ตรวจไข้เลือดออก มาลาเรียด้วย โดยผลเป็นลบ เอกซเรย์ปอดยังปกติ
- 3 ธ.ค. 2564 ออกจากโรงแรมที่กักตัว รถโรงแรมมาส่งห้าง แวะร้านสะดวกซื้อ และส่งกลับบ้าน ที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ขณะมีไข้ ภรรยาดูแลตลอด
- 4-6 ธ.ค. 2564 อยู่บ้าน มีไข้ ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ภรรยาดูแลคนเดียว
- 6 ธ.ค. 2564 ตรวจ ATK ผลยังเป็นลบ
- 7 ธ.ค. 2564 อาการไม่ดีขึ้น ไข้ เหนื่อย ยังมีสติดี ภรรยาพานั่งแท็กซี่ไป รพ.B ผลตรวจ RT-PCR พบ “ติดเชื้อ” แพทย์สงสัยเป็นโอมิครอน จึงส่งตรวจสายพันธุ์ โดยตัวผู้ป่วยเข้ารักษาที่ รพ. ส่วนภรรยาเดินทางกลับและกักตัวที่บ้าน
- 10 ธ.ค. 2564 ภรรยาไปรับการตรวจโควิดที่ รพ.C ผลออกมาว่า “ติดเชื้อ” วันเดียวกัน ผลตรวจสายพันธุ์ของสามียืนยันว่าเป็นโอมิครอน
- 12-19 ธ.ค. 2564 ภรรยา (ผู้ป่วยหญิง) เข้ารักษาตัวที่ รพ.C ต่อมาผลตรวจสายพันธุ์ยืนยันสายพันธุ์โอมิครอน และนับเป็นรายแรกของประเทศที่ติดเชื้อจากผู้เดินทางในประเทศ
ขณะที่พบผู้ป่วยติดเชื้อที่เดินทางเข้ามาในรูปแบบ Test & Go เพิ่มขึ้น 2 เท่า ทางกระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดทำข้อเสนอต่อ ศปก.ศบค. พิจารณาชะลอการเดินทางเข้ามาในระบบ Test & Go
ในส่วนของประเทศไทย คนที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศนั้น มีการบันทึกและเก็บข้อมูลทุกวัน โดย 19 วันแรก ของเดือน ธ.ค.มีคนทางเข้ามามากกว่าเดือน พ.ย.ถึงเดือน 138,000 กว่าคน โดยเฉพาะ Test and Go เข้ามาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะ 4-5 วันที่ผ่านมา มีผู้เดินทางเข้ามาจำนวน 10,000 รายต่อวัน ส่วนระบบแซนด์บ็อกซ์มีผู้เข้ามาประมาณ 1 พันคนต่อวัน
ทั้งนี้ การติดเชื้อนั้นเมื่อมีการตรวจ RT-PCR พบแล้วจะมีการส่งตรวจหาสายพันธุ์ ต่อไปซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์ Delta โอไมครอนเจอแล้ว 1 ใน 4 ดังนั้น จะต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติมในส่วนนี้