ผลวิจัยออกซ์ฟอร์ด เผย "แอสตร้าเซนเนกา" กระตุ้นระดับแอนติบอดี ต่อ "โอไมครอน"
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ "แอสตร้าเซนเนกา" ช่วยกระตุ้นระดับแอนติบอดีต่อไวรัสสายพันธุ์ "โอไมครอน" ได้ การทดลองใช้วัคซีน"แอสตร้าเซนเนกา" เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 มีผลข้างเคียงน้อยกว่าการใช้เข็มแรก
ศาสตราจารย์ เซอร์ จอห์น เบลล์ ราชศาสตราจารย์ (Regius Professor) ด้านการแพทย์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร หนึ่งในผู้วิจัย กล่าวว่า การค้นพบวัคซีนป้องกัน โควิด-19 ที่ใช้ในปัจจุบันสามารถใช้เป็น "วัคซีนเข็มกระตุ้น" เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์ "โอไมครอน" ได้ ผลการศึกษานี้สามารถช่วยสนับสนุนแนวทางของประเทศต่างๆ ในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่ประชาชน เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวลต่างๆ รวมถึงสายพันธุ์ "โอไมครอน"
ด้านเซอร์ เมเน แพนกาลอส รองประธานบริหารฝ่ายวิจัยและพัฒนาด้านยาชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) ของ "แอสตร้าเซนเนกา" เปิดเผยว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ "แอสตร้าเซนเนกา" มีบทบาทสำคัญต่อโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันทั่วโลก ข้อมูลจากการศึกษาล่าสุดนี้นำมาซึ่งความเชื่อมั่นต่อการใช้วัคซีนของ "แอสตร้าเซนเนกา" เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สาม
ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญคือการพิจารณาถึงแง่มุมอื่น ๆ นอกจากแค่เพียงระดับแอนติบอดี เพื่อที่จะทำความเข้าใจประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์ "โอไมครอน" ในขณะที่เราเข้าใจสายพันธุ์ "โอไมครอน" มากขึ้น เราเชื่อว่าการตอบสนองของเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (T-cell) จะสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อรุนแรงและป้องกันอาการเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 ในระดับที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ในระยะยาว
ข้อมูลจากการศึกษาในห้องปฏิบัติการอีกการศึกษาหนึ่งยังบ่งชี้ข้อสนับสนุนด้านประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ "แอสตร้าเซนเนกา" ต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์ "โอไมครอน" โดยพบว่าในผู้ที่ได้รับวัคซีนดังกล่าวจำนวน 2 โดส สามารถคงระดับการลบล้างเชื้อไวรัสสายพันธุ์ "โอไมครอน" ได้ แม้ว่าจะมีระดับฤทธิ์ลบล้างที่ลดลงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม4 และยังมีการศึกษาอื่นๆ ที่บ่งชี้ว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ "แอสตร้าเซนเนกา" เพิ่มการตอบสนองของเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (T-cell) ที่หลากหลายและยาวนานต่อไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งเป็นการตอบสนองของร่างกายต่อเชื้อไวรัสที่ครอบคลุมมากกว่าแค่แอนดิบอตีเพียงอย่างเดียว และอาจเป็นอีกปัจจัยสำคัญสำหรับการป้องกันโรคโควิด-19
"แอสตร้าเซนเนกา" อยู่ระหว่างการพัฒนาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพของ วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ "แอสตร้าเซนเนกา" ในการต่อต้านเชื้อไวรัสสายพันธุ์ "โอไมครอน" โดยคาดว่าจะมีผลการศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติมในเร็ว ๆ นี้ บริษัทกำลังเก็บข้อมูลการใช้งานจริงเพื่อประเมินระดับประสิทธิภาพของวัคซีนต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์ "โอไมครอน" ร่วมกับกลุ่มนักวิชาการในภูมิภาคแอฟริกาใต้
นอกจากนี้ "แอสตร้าเซนเนกา" กำลังทำการวิเคราะห์เลือดของกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมการทดลองระยะที่ 2 และ 3 เพื่อประเมินประสิทธิภาพการลบล้างเชื้อไวรัสสายพันธุ์ "โอไมครอน" หลังการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ทั้งด้วยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ "แอสตร้าเซนเนกา" และวัคซีนรุ่นใหม่ที่อยู่ระหว่างการวิจัย (AZD2816)
ทั้งนี้ข้อมูลปัจจุบันเกี่ยวกับสายพันธุ์ต่างๆที่น่ากังวล ไม่รวมสายพันธุ์ "โอไมครอน" สนับสนุนการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ "แอสตร้าเซนเนกา" เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 ได้ทั้งหลังการใช้วัคซีนชนิดเดียวกันและต่างชนิดกัน
การวิเคราะห์ย่อยของผลการทดลอง COV001 และ COV002 แสดงให้เห็นว่าการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19ของ "แอสตร้าเซนเนกา" เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นหลังจากการได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มไปแล้ว 6 เดือน สามารถกระตุ้นระดับแอนติบอดีได้เพิ่มขึ้นหกเท่าและรักษาการตอบสนองของทีเซลล์ให้อยู่ในระดับเดิม การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 ยังสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์อัลฟา เบตา และเดลตา ได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการใช้วัคซีน 2 เข็ม ในการทดลองใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ "แอสตร้าเซนเนกา" เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 มีผลข้างเคียงน้อยกว่าการใช้เข็มแรก
นอกจากนี้ ผลการทดลอง COV-BOOST แสดงให้เห็นว่าการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ "แอสตร้าเซนเนกา" เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 สามารถกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมต่อทั้งเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา และสายพันธุ์ดั้งเดิม ไม่ว่าวัคซีน 2 โดสแรกนั้นจะเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ "แอสตร้าเซนเนกา" หรือ วัคซีน BioNtech (BNT162b2) ของไฟเซอร์ก็ตาม