"โอไมครอน" มีภูมิต่อเดลตา ตอกย้ำแทนที่ไม่ช้า เผยการตั้งรับที่ภาครัฐควรทำ
หมอขวัญชัย เผยผู้ที่ติดเชื้อ "โอไมครอน" มีภูมิคุ้มกันต่อเดลตาสูงมาก จะแทนที่เดลตาทั่วโลกในเร็วๆนี้ พร้อมทิ้งประเด็นให้ภาครัฐ ควรพิจารณาอะไร ในสถานการณ์การระบาดของ "โอไมครอน"
ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Khuanchai Supparatpinyo ถึงการตั้งรับสถานการณ์ "โอไมครอน" ที่จะระบาดเป็นสายพันธ์หลักแทนเดลตา พร้อม สิ่งที่รัฐควรพิจารณาในการตั้งรับ "โอไมครอน" โดยมีข้อความดังนี้
ผู้ที่ติดเชื้อ "โอไมครอน" มีภูมิคุ้มกันต่อเดลตาสูงมาก "โอไมครอน" จะแทนที่เดลตาทั่วโลกในเร็วๆนี้
วันนี้กลับมาคุยต่อที่ทิ้งประเด็นไว้เมื่อวานว่าภาครัฐควรพิจารณาอะไรบ้างในสถานการณ์การระบาดของ "โอไมครอน"
1.ไม่ควรจะสร้างความแตกตื่นให้สังคมเมื่อพบผู้ติดเชื้อ "โอไมครอน" หรือไม่ ที่ภาครัฐไม่ควรทำอย่างยิ่งคือ ปกๆปิดๆ อิดๆเอื้อนๆว่า "โอไมครอน" ไม่น่าจะเข้ามาในไทย หรือพยายามจะบอกว่าเอา "โอไมครอน" อยู่แน่ไม่มีทางแพร่ระบาดในประเทศ เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ต้องยอมรับและวางแผนตั้งรับการระบาดของ "โอไมครอน" อย่างเต็มที่ แม้ว่าจะมีข้อมูลที่พอจะเชื่อได้ว่า "โอไมครอน" น่าจะก่อโรคที่รุนแรงน้อยกว่าเดลตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันไม่ว่าจะเกิดจากการติดเชื้อตามธรรมชาติหรือการฉีดวัคซีน การที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ 3 ฉากทัศน์การระบาดของ "โอมิครอน" เมื่อวานนี้นับเป็นการเดินถูกทางแล้ว เพราะเป็นการแจ้งให้ประชาชนรับรู้ว่า "โอไมครอน" ระบาดแน่ แต่กำหนดเป้าหมายการควบคุมการระบาดของประเทศตามฉากทัศน์ที่ 3 โดยพยายามให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดไม่เกิน 13,000 รายต่อวัน และผู้เสียชีวิตสูงสุดไม่เกิน 60 รายต่อวัน ซึ่งระบบการรักษาพยาบาลของประเทศสามารถรองรับได้
ที่สำคัญคือทุกฝ่ายรวมทั้งสื่อมวลชนต้องรับรู้ความจริงนี้และไม่ควรแสดงอาการราวกับว่าเมืองไทยต้องไม่มีผู้ติดเชื้อ "โอไมครอน" แม้แต่รายเดียว และทำท่าตกอกตกใจจนเกินเหตุเมื่อมีรายงานผู้ติดเชื้อ "โอไมครอน" ในจังหวัดต่างๆ
2. ยังสมควรจะตรวจเชิงรุกในคนที่ไม่มีอาการหรือไม่
ด้วยความสามารถของ "โอไมครอน" ที่แพร่ได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆมาก และผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแต่สามารถแพร่เชื้อได้ ทุกครั้งที่เราพบผู้ติดเชื้อ 1 คนความจริงอาจจะมีคนติดเชื้อไปแล้ว 8 คน และแต่ละคนใน 8 คนนี้ก็อาจจะแพร่ไปแล้วอีก 8 คน (ไม่รู้จบ) ซึ่งบางรายอาจจะผลตรวจเป็นลบทำให้เกิดความมั่นใจผิดๆว่าตนเองไม่ติดเชื้อและไม่ระมัดระวังจนแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ การไล่ตรวจหาผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการจึงไม่ค่อยมีประโยชน์ทั้งในด้านการรักษาและการกักตัว ยกเว้นว่าจะสามารถกักตัวผู้ติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงได้ทั้งหมดจริงๆ
สิ่งที่ควรทำมากกว่าคือการให้ผู้ที่มีอาการของโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจทุกคนไม่ว่าจะรุนแรงหรือเล็กน้อยสามารถเข้าถึงการตรวจได้ทันทีและโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะถ้ารู้ว่าติดเชื้อเร็วก็สามารถรักษาและกักตัวที่บ้านได้ทันที
3. ยังสมควรจะรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยที่ไม่ต้องเข้ารับการรักษาในรพ.หรือไม่
เช่นเดียวกับข้อ 2 จากความสามารถของ "โอไมครอน" ที่แพร่ได้เร็วแต่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่มีอาการหรืออาการน้อย การรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยและไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในรพ.อาจไม่ค่อยมีประโยชน์มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้วก็คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดอีกต่อไป
จำนวนผู้ป่วยที่อาการหนักและต้องเข้ารักษาตัวในรพ. รวมทั้งจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด เพราะจะช่วยบอกว่ากำลังส่งผลกระทบต่อศักยภาพของระบบการรักษาพยาบาลของประเทศหรือไม่เพียงใด
4. ยังสมควรจะมีสถานกักตัวหรือรักษาผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยอีกหรือไม่
เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่าผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยควรรักษาและกักตัวที่บ้านมากกว่าเข้าไปรักษาและกักตัวในรพ. ไม่ควรทุ่มเททรัพยากรทั้งคน เงินและสถานที่ไปดูแลผู้ที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องได้รับการดูแลใกล้ชิด สถานพยาบาลภาครัฐควรจะได้รับการปรับปรุงให้สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยที่อาการหนักมากกว่า อีกอย่างคือควรทุ่มเทสรรพกำลังไปใช้ในการระดมฉีดวัคซีนให้มากและเร็วที่สุดดีกว่า
5. ยังสมควรใช้ RT-PCR ในการตรวจคัดกรองหรือไม่
การที่ "โอไมครอน" สามารถแพร่ได้เร็วมาก การคัดกรองด้วย RT-PCR ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงและได้ผลช้า อาจจะไม่มีประโยชน์ในการวินิจฉัยที่ทันท่วงที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย การใช้ ATK ที่ราคาถูกกว่าและได้ผลทันทีน่าจะคุ้มค่ากว่า ควรเก็บ RT-PCR ไว้ใช้ในการตรวจยืนยันถ้ามีความจำเป็นเท่านั้น