ใช้หน้ากากผ้าต้อง "มัสลิน" กัน " โอไมครอน" แต่ต้องหลายชั้นหยุดสารคัดหลั่ง
อธิบดีกรมวิทย์ยืนยันหน้ากากผ้าสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ "โอไมครอน" หน้ากากคุณภาพดีที่สุดแต่หากใส่ผิดวิธีสามารถติดเชื้อได้เช่นกัน
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีข่าวการใส่หน้ากากผ้าไม่ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ "โอไมครอน" ว่า ต่อให้ใช้หน้ากาก N95 ถ้าใส่ไม่ถูกวิธีไม่ได้มีการทำ fit test แม้แต่ N95 ก็ไม่สามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ 100% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการใส่ที่ถูกต้องด้วย อีกทั้งการใส่หน้ากาก N95 ไม่สามารถใส่ได้ทั้งวันรวมถึงราคาสูงรองลงมาคือหน้ากากอนามัย ถ้าหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพดีก็สามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ในระดับหนึ่ง และรองลงมาคือหน้ากากผ้า ซึ่งได้ทำการพิสูจน์แล้วว่าทำไม "โอไมครอน" ถึงกันไม่ได้ เนื่องจาก "โอไมครอน" ไม่ได้ตัวเล็กลง "โอไมครอน" ยังมากับสารคัดหลั่งเหมือนเดิม ไม่ได้สามารถแยกตัวออกจากสารคัดหลั่งได้ ซึ่งสารคัดหลั่งมีโมเลกุลใหญ่ประมาณ 5-6 ไมครอน จึงไม่แตกต่างกับเชื้อโควิคสายพันธุ์อื่นที่เคยมีอยู่
ดังนั้นการที่หน้ากากผ้าสามารถป้องกันเชื้อ เดลตา เบตา อัลฟ่า หรือสายพันธุ์อื่นได้ก็สามารถกัน "โอไมครอน" ได้เช่นกัน
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวด้วยว่า การที่ "โอไมครอน" แพร่เร็วมีปัจจัยอื่นมากพอสมควรไม่ใช่เพราะใส่หน้ากากผ้าแล้วป้องกันไม่ได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือ นอกจากคุณสมบัติของตัวหน้ากาก ยังเป็นวิธีการใส่ที่ถูกต้องหาก ใส่หน้ากากแล้วรู้สึกหายใจปลอดโปร่งโล่ง สบาย อาจจะหมายถึงใส่หน้ากากผิดวิธี โอกาสที่จะป้องกันได้ก็ลดลงไปอีก โดยหลักการแล้วหน้ากากผ้าตามที่เคยแนะนำไว้ถ้าที่ใช้ก็ควรจะเป็นผ้าที่มีคุณสมบัติที่ดี เช่น ผ้ามัสลิน และมีจำนวนชั้นพอสมควรในการที่จะใช้ป้องกันได้ ดังนั้นเรื่องดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรตกใจและไม่ควรที่จะทำให้กลายเป็นสับสนวุ่นวาย การใส่หน้ากากผ้ายังยืนยันว่ายังช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิดได้