WHO ยัน "โอไมครอน" ยังอันตราย เสี่ยงฉุดระบบสาธารณสุขล่มทั่วโลก
องค์การอนามัยโลก เตือน "โอไมครอน" ยังคงมีความเสี่ยงสูง และอาจทำให้ระบบสาธารณสุขและบริการสำคัญ หยุดชะงักเป็นวงกว้าง หลังทั่วโลกติดโควิดเพิ่มกว่า 6.5 ล้านคนในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว
องค์การอนามัยโลก เตือน "โอไมครอน" ยังคงมีความเสี่ยงสูง และอาจทำให้ระบบสาธารณสุขและบริการสำคัญ หยุดชะงักเป็นวงกว้าง หลังทั่วโลกติดโควิดเพิ่มกว่า 6.5 ล้านคนในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเคสผู้ป่วย "โอไมครอน" ใหม่ เพิ่มเป็นสถิติกว่า 6.55 ล้านราย เฉลี่ยแล้วเท่ากับมากกว่าวันละ 935,000 ราย โดยตัวเลขนี้สูงกว่ามาก จากสถิติสูงสุดรอบ 7 วันเดิม ที่โลกบันทึกไว้ในช่วงระหว่างวันที่ 23 – 29 เมษายน ขณะนั้นมีเคสติดเชื้อใหม่เฉลี่ยวันละ 817,000 คน และตัวเลขของ 7 วันล่าสุดนี้ ยังสูงกว่าช่วง 7 วันก่อนหน้าถึง 37% ด้วย
กระนั้นก็ตาม อัตราการเสียชีวิต ขณะนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ โดยช่วง 7 วันหลังสุดที่ผ่านมา เฉลี่ยแล้วมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 วันละประมาณ 6,450 คน ต่ำสุดนับตั้งแต่ตอนสิ้นเดือนตุลาคม 2020 เมื่อครั้งโรคระบาดใหญ่หนักที่สุดนั้น สถิติสูงสุดของผู้เสียชีวิตอยู่ที่เฉลี่ยวันละ 14,800 คนในช่วงระหว่างวันที่ 20-26 มกราคมปีนี้
อย่างไรก็ตาม รายงานสถานการณ์ด้านระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ขององค์การอนามัยโลก เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ยังคงเตือนว่า ความเสี่ยงโดยรวมเกี่ยวกับ "โอไมครอน" ยังมีสูงมาก โดยมีหลักฐานว่า ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์นี้มีความสามารถในการแพร่ระบาดเป็น 2 เท่าตัวภายใน 2-3 วัน
ที่สำคัญ องค์การอนามัยโลกระบุว่า ข้อมูลเบื้องต้นจากอังกฤษ , แอฟริกาใต้ และเดนมาร์ก ซึ่งขณะนี้กลายเป็นประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อเฉลี่ยต่อคนสูงสุดในโลก บ่งชี้ว่า โอไมครอน มีความเสี่ยงทำให้ผู้ติดเชื้อป่วยหนักต้องเข้าโรงพยาบาล น้อยกว่าตัวกลายพันธุ์เดลตาก็จริง แต่ก็ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเข้าใจระดับความรุนแรงของ "โอไมครอน" ต่อไป
ทางด้าน แคเธอรีน สมอลล์วูด ผู้จัดการสถานการณ์โควิดของอนามัยโลก ประจำภาคพื้นยุโรปได้เตือนว่า การระบาดอย่างรวดเร็วของ "โอไมครอน" ยังคงส่งผลให้มีผู้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน และทำให้ระบบสาธารณสุขและบริการสำคัญอื่นๆ หยุดชะงักเป็นวงกว้าง