โควิด-19

"ฉีดวัคซีนเข็ม 3" ไทยสูตรไหนได้ภูมิสูงสุด จับตาเทียบ 3 เข็ม ไฟเซอร์ - แอสตร้าฯ

"ฉีดวัคซีนเข็ม 3" ไทยสูตรไหนได้ภูมิสูงสุด จับตาเทียบ 3 เข็ม ไฟเซอร์ - แอสตร้าฯ

11 ม.ค. 2565

เปิดผล "ฉีดวัคซีนเข็ม 3" ของประเทศไทย สูตรไหนได้ภูมิต้านทานที่สูงที่สุด จับตาเปรียบเทียบ ไฟเซอร์ 3 เข็ม (triple P) แอสตร้าเซนเนก้า 3 เข็ม (triple A)

 

เกาะติด "ฉีดวัคซีนเข็ม 3" ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Omicron โควิดสายพันธุ์ใหม่ โอมิครอน หรือ โอไมครอน ซึ่งพบว่า โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน (สายพันธุ์โอไมครอน) เกิดสายพันธุ์ย่อย BA1 และ BA2 โดย หมอยง ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ Yong Poovorawan ระบุถึง การกระตุ้นเข็ม 3 ในสูตรต่าง ๆ ของประเทศไทย โดยวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 จะใช้ mRNA และไวรัสเวกเตอร์ เช่น Pfizer (PZ), Moderna (MN), AstraZeneca (AZ)

 

 

 

 

หมอยง โพสต์ถึงการ "ฉีดวัคซีนเข็ม 3" ว่า วันนี้จะให้ดูข้อมูลการกระตุ้นด้วย mRNA ในสูตรต่าง ๆ ของประเทศไทย ที่ใช้ เช่น เชื้อตาย 2 เข็ม SP-SP, SV-SV, SV-AZ, AZ-AZ ซึ่งเป็นสูตรหลักที่ใช้ในประเทศไทย เป็นการศึกษาทางคลินิกที่มีการบันทึกอาการข้างเคียงอย่างละเอียด และกำหนดให้การได้เข็ม 2 ต้องห่างจากการกระตุ้นเข็ม 3 ที่ 5-7 เดือน ทุกรายมีอายุเกิน 18 ปีขึ้นไป มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ข้อจำกัดของการศึกษานี้กลุ่ม AZ-AZ อายุจะสูงกว่ากลุ่มอื่นตามสถานการณ์จริงของประเทศไทย การศึกษานี้จะตรวจเลือดก่อนฉีดเข็มกระตุ้น หลัง 2 สัปดาห์ และ 4 สัปดาห์ และวางแผนที่จะติดตามที่ 90 วันหลังเข็ม 3 อีก 1 ครั้ง

 

 

"การใช้วัคซีน mRNA ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะใช้เป็นเข็มกระตุ้น เพราะได้ฉีดวัคซีนชนิดอื่นมาแล้วเป็นจำนวนมาก ส่วนการกระตุ้นด้วย AZ ในกลุ่ม SV-SV-AZ ได้มีการตีพิมพ์แล้ว ส่วน SV-AZ-AZ และ AZ-AZ-AZ จะนำมาเสนอต่อไป ได้ฉีดให้ในอาสาสมัครไปแล้ว"

 

 

หมอยง ระบุต่อว่า Moderna ที่ใช้เป็นเข็มกระตุ้นในอเมริกา จะให้เพียงครึ่งโดส เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นหลังได้รับวัคซีนไฟเซอร์ Moderna หรือ J&J ที่เป็นไวรัสเวกเตอร์ ในทำนองเดียวกัน ประเทศอังกฤษ ก็ใช้วัคซีน Moderna เข็มกระตุ้นตามหลัง AZ ด้วยขนาดครึ่งโดส เพื่อลดอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่าอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย คือ เจ็บบริเวณที่ฉีด ยกแขนไม่ขึ้น ปวดเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว ปวดศีรษะ อาเจียน ท้องเสีย และที่สำคัญในเข็มกระตุ้น จะพบการโตของต่อมน้ำเหลืองที่ใต้แขน มากกว่าเข็มที่ 1 และ 2 (ข้อมูลของ US CDC) ดังนั้น จึงมีการศึกษาขนาดครึ่งโดสด้วย ข้อมูลที่ให้เห็นเบื้องต้นนี้เป็นการวัดระดับภูมิต้านทาน 2 วิธี คือ วัด total immunoglobulin ต่อ RBD หน่วยจะเป็น unit/ml, และ specific IgG ต่อ RBD ของสไปรท์โปรตีน หน่วยจะเป็น BAU/ml

 

 

 

 

การศึกษาในประเทศไทย "ฉีดวัคซีนเข็ม 3" โดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ทำอยู่ แสดงให้เห็นว่าการให้เข็มกระตุ้น ไม่ว่าจะตามหลังวัคซีนเชื้อตาย SV-SV, SP-SP, SV-AZ, AZ-AZ 2 เข็มมาแล้ว ดังแสดงในรูป

 

 

หมอยง, ฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 3, Omicron, Pfizer, Modena, AstraZeneca

 

หมอยง, ฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 3, Omicron, Pfizer, Modena, AstraZeneca

 

 

ผลการกระตุ้นได้ภูมิต้านทานที่สูง ในการตรวจทั้ง 2 วิธี สอดคล้องกัน คือ การได้รับ SV-SV มาก่อน การกระตุ้นจะได้ภูมิต้านทานที่สูงที่สุด สูงกว่ากว่า SP-SP,  SV-AZ และจากข้อมูลการกระตุ้นใน กลุ่ม SV-AZ ยังได้ระดับภูมิต้านทาน เท่าเทียม AZ-AZ อย่างไรก็ตาม ถ้าดูระดับภูมิต้านทานแล้วทุกกลุ่มก็ยังอยู่ในระดับสูง

 

 

"ขณะนี้ กำลังรวบรวมข้อมูล PZ-PZ-PZ 3 เข็ม (triple P) ในประเทศไทย เพื่อนำมาเปรียบเทียบ (ขณะนี้ได้จำนวนหนึ่งแล้ว) และกำลังศึกษา AZ-AZ-AZ หรือที่เรียกว่า triple A อีกด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลทุกกลุ่มที่มีการใช้ในประเทศไทย ส่วนกลุ่ม MN-MN-MN หรือ triple M คงจะหายากหรือต้องรออีกนาน"

 

นอกจากนี้ หมอยง ยังระบุด้วยว่า การให้ mRNA ในขนาดครึ่งโดส โดยเฉพาะ MN ผลที่ได้ไม่ได้แตกต่างกันมากกับการให้ขนาดเต็มโดส เพราะภูมิขึ้นสูงมาก และที่เห็นได้ชัดคืออาการข้างเคียงน้อยกว่า ระดับภูมิต้านทาน neutralizing antibody (NT) ต่อสายพันธุ์ต่าง ๆ ได้ดำเนินไปมากพอสมควรแล้ว โดยใช้ sVNT หรือไวรัสเทียม และไวรัสจริง สายพันธุ์ Delta และ Omicron (แยกไวรัสจากผู้ป่วยได้แล้ว และได้ทำไปส่วนหนึ่งแล้วโดย อาจารย์จุฑาทิพย์ และคณะ ที่ศิริราช) และปฏิกิริยาระดับเซลล์ CMIR ก็ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน จะแสดงในโอกาสต่อไป รวมทั้งเก็บเม็ดเลือดขาวที่จะศึกษาในทางลึกต่อไป

 

 

 

ในอดีตที่ผ่านมาการศึกษาระดับภูมิต้านทาน มีความสัมพันธ์ที่ดี กับ sVNT ในสายพันธุ์ต่างๆ ดังที่ได้มีการเผยแพร่ในวารสารนานาชาติไปแล้ว ข้อมูลดังกล่าว จะมีการเผยแพร่ในวารสารต่างประเทศต่อไป และจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการบริหารจัดการวัคซีนในประเทศไทย ให้เหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศไทย โดยการศึกษาในประเทศไทย มากกว่าที่จะใช้ข้อมูลจากต่างประเทศ และในขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นที่ต้องศึกษาจากสถานการณ์จริง ถึงประสิทธิภาพในการป้องกันโรค