โควิด-19

ไทยท็อปฟอร์ม "โอไมครอน" 10 เท่า ใน 10 วัน กว่า 1,500 ราย แซงยุโรป-อิสลาเอล

ไทยท็อปฟอร์ม "โอไมครอน" 10 เท่า ใน 10 วัน กว่า 1,500 ราย แซงยุโรป-อิสลาเอล

04 ม.ค. 2565

หมอเฉลิมชัย เผย การติดเชื้อ "โอไมครอน" ในไทย 22 ธ.ค. 64 - 1 ม.ค. 65 จาก 154 ราย ขึ้นเป็น 1,551 ราย ใน 10 วัน ระบาดเร็วแต่ไม่ร้ายกาจเท่าเดลตา ทำลายปอดน้อยกว่า เสียชีวิตน้อยกว่า วัคซีน 2 เข็มรับมือได้ไม่ดีนัก

นายแพทย์ เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chalermchai Boonyaleepun ให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ "โอไมครอน" หรือ โอมิครอน (Omicron) ที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศไทย โดยมีแนวโน้มที่จะขยายงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยใน 10 วันที่ผ่านมา "โอไมครอน" มีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น 10 เท่า แต่ความรุนแรงของโรคน้อยกว่าเดลตา โดยมีข้อความดังนี้ 

ไทยท็อปฟอร์ม \"โอไมครอน\" 10 เท่า ใน 10 วัน กว่า 1,500 ราย แซงยุโรป-อิสลาเอล

 "โอไมครอน" ของไทย ติดเชื้อเพิ่ม 10 เท่าใน 10 วัน แต่เสียชีวิตน้อย
จากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์  "โอไมครอน" ที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นกลุ่มสายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วง (VOC) เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2564 ขณะนี้ได้ผ่านไปแล้วประมาณหนึ่งเดือนเศษ ข้อมูลเกี่ยวกับสามมิติของไวรัสปรากฏชัดเจนขึ้นตามลำดับดังนี้

 

  1. ความสามารถในการแพร่ระบาดชัดเจนว่า แพร่ระบาดได้รวดเร็วและกว้างขวางมากกว่าเดลตามาก นับเป็นหลายเท่าตัว ในยุโรปเพิ่มเป็น 2 เท่าทุก 3 วัน ที่อิสราเอลเพิ่ม 4 เท่า ในเวลา 10 วัน ส่วนประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าใน 10 วัน โดยเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 มีผู้ติดเชื้อ "โอไมครอน" ทั้งสิ้น 154 ราย พอ 10 วันถัดมา ในวันที่ 1 มกราคม 2565 มีผู้ติด  "โอไมครอน" ทั้งสิ้น 1551 ราย นับเป็น 10 เท่าตัว
  2. ความสามารถในการก่อโรค หรือการสร้างความรุนแรงในการเจ็บป่วย มีรายงานการศึกษาพบว่า ไวรัสนี้จะทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจบริเวณลำคอและหลอดลมส่วนต้นได้ง่ายและมากกว่าเดลตา แต่ลงไปทำอันตรายกับถุงลมหรือตัวเนื้อปอดน้อยกว่าเดลตา จึงทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการที่รุนแรงน้อยกว่า มีสัดส่วนของการเข้าไอซียู และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจน้อยกว่า เพราะไม่ได้ทำอันตรายที่เนื้อเยื่อปอดในระดับถุงลมที่แลกเปลี่ยนออกซิเจน จึงส่งผลไปถึงการเสียชีวิต ที่มีสัดส่วนน้อยกว่าด้วย และสำหรับประเทศไทยก็พบเช่นเดียวกันว่า ในขณะที่มีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นดังกล่าว แต่การเสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
  3. การดื้อต่อวัคซีน เป็นที่ชัดเจนว่า วัคซีน 2 เข็มของบริษัทชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี mRNA ไวรัสเป็นพาหะ หรือเชื้อตาย ล้วนแต่มีประสิทธิผลลดลงในการรับมือกับ "โอไมครอน" 

 

อีกหนึ่งตัวเลขที่น่าสนใจคือ จำนวนผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศเข้าประเทศไทยไม่ได้เพิ่มมากขึ้น แต่จำนวนการติดเชื้อที่ตรวจพบในสถานกักตัวของผู้เดินทางจากต่างประเทศกลับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จากวันที่ 25 ธันวาคม 2564 ตรวจพบผู้ติดเชื้อ 63 ราย พอ 3 มกราคม 2565 ผู้ติดเชื้อจากประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 168 ราย และทำนองเดียวกัน ในวันที่ 25 ธันวาคม 2564 พบการทดสอบเป็นบวกจาก ATK 590 ราย พอ 3 มกราคม 2565 ผลการตรวจจาก ATK เพิ่มเป็น 1939 ราย

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น จึงพอประมวลสรุปในขณะนี้ได้ว่า ไวรัสสายพันธุ์  "โอไมครอน" มีความสามารถในการแพร่เชื้อกว้างขวางรวดเร็วทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยก็มีระดับการแพร่เชื้อที่รวดเร็วไม่ได้น้อยกว่าในต่างประเทศเลย ส่วนในประเด็นเรื่องความรุนแรงของโรค ก็ติดเชื้อลงปอดน้อย ใช้เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตน้อย เช่น เดียวกับที่พบในต่างประเทศ

ส่วนการดื้อต่อวัคซีน ก็ชัดเจนว่าวัคซีน 2 เข็มรับมือ "โอไมครอน" ได้ไม่ดีนัก ดังนั้นการรับมือกับ "โอไมครอน" ตอนนี้ คงจะต้องเน้นไปที่ ลดการแพร่ระบาดลง โดยเน้นเรื่องวินัยในการป้องกันตนเอง เพื่อให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อย ส่วนการรับมือกับเรื่องความรุนแรงนั้น ในโรงพยาบาลหลักคงยังพอจะรับมือไหวในช่วงนี้ และการเร่งฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้ได้ 50  ล้านโดส ก็คงจะช่วยรับมือได้ในระดับหนึ่งด้วย