โควิด-19

"โอไมครอน" ไทยพุ่ง 2,338 ราย กระจาย 55 จว. ยึดพื้นที่ กทม.ยอดติดเชื้อสูงสุด

"โอไมครอน" ไทยพุ่ง 2,338 ราย กระจาย 55 จว. ยึดพื้นที่ กทม.ยอดติดเชื้อสูงสุด

05 ม.ค. 2565

สธ. แถลง ประเทศไทยเจอยอดติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" พุ่ง 2,338 ราย กระจายแล้ว 55 จังหวัด ยึดพื้นที่ กทม.ยอดติดเชื้อสูงสุด

(5 ม.ค.2565) แพทย์หญิงสุมณี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการ สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า สถานการณ์การติดเชื้อตามสายพันธุ์การระบาดในประเทศไทย ซึ่งการรายงานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่มีการสุ่มตรวจสายพันธุ์ เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2564 - 4 ม.ค.2565 พบว่า เป็น "สายพันธุ์เดลตา" อยู่ที่ 78.91% และเป็นสายพันธุ์ "โอไมครอน" เพิ่มขึ้นเป็น 20.92% ซึ่งหากแยกเป็นผู้ป่วยจะอยู่ที่ 2,338 ราย ขณะนี้ "สายพันธุ์โอไมครอน" ได้แพร่กระจายไปแล้ว 55 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีการติดเชื้อ และมีการแพร่ระบาดมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร 676 ราย ตามด้วยกาฬสินธุ์ 233 ราย  ชลบุรี 204 ราย ร้อยเอ็ด 180 ราย  ภูเก็ต 175 ราย และสมุทรปราการ 117 ราย

 

 

\"โอไมครอน\" ไทยพุ่ง 2,338 ราย กระจาย 55 จว. ยึดพื้นที่ กทม.ยอดติดเชื้อสูงสุด

แต่จากรายงานที่มีผู้ติดเชื้อ "โอไมครอน" จำนวน 2,338 ราย 50% เป็นผู้ที่ติดเชื้อซึ่งเดินทางมาจากต่างประเทศ และอีก 50% ติดจากภายในประเทศ ซึ่งเป็นวงที่ 2 โดยคนไข้ที่เข้ามาในระบบการรักษาส่วนใหญ่ ยังคงเป็น "สายพันธุ์เดลตา" ดังนั้น กลุ่มเสี่ยงหลักของเชื้อ ยังคงเป็นกลุ่มที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน หรือไม่เคยได้รับวัคซีน 

 

 

\"โอไมครอน\" ไทยพุ่ง 2,338 ราย กระจาย 55 จว. ยึดพื้นที่ กทม.ยอดติดเชื้อสูงสุด

\"โอไมครอน\" ไทยพุ่ง 2,338 ราย กระจาย 55 จว. ยึดพื้นที่ กทม.ยอดติดเชื้อสูงสุด

 

 

พ.ญ.สุมณี กล่าวว่า สำหรับคลัสเตอร์ที่กระทรวงสาธารณสุข และ ศบค.มีความเป็นห่วงมาก คือ "คลัสเตอร์" ที่มีการแพร่ระบาดในร้านอาหาร โดยร้านอาหารที่เป็นลักษณะกึ่งผับบาร์ มีการพบที่จังหวัดเชียงใหม่, พะเยา, ขอนแก่น ชลบุรี, มหาสารคาม, อุดรธานี, อุบลราชธานี และกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการสอบสวนโรคพบว่า เป็นการติดเชื้อในร้านอาหารกึ่งผับ ซึ่งเป็นสถานบันเทิงที่ฝ่าฝืนและเปิดให้บริการ โดยมีความเสี่ยงไม่ได้เปิดให้บริการภายใต้มาตรการ Covid Free Srtting ซึ่งมีการแพร่ระบาดจำนวนมาก มีโอกาสที่จะเป็นต้นเหตุให้แพร่ระบาดลงไปในระดับชุมชน และระดับครอบครัว ซึ่งจะคล้ายกับการระบาดละลอกที่สามของประเทศไทยที่ผ่านมา

 

 

ผู้ช่วยรองโฆษก ศบค. กล่าวว่า หลังเทศกาลปีใหม่ได้มีการประเมินสถานการณ์มาตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.เป็นต้นมา เพื่อสรุปในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันศุกร์นี้ ในหลายเรื่องที่น่าสนใจ คือ

 

  1. มาตรการปรับสีพื้นที่ตามสถานการณ์ การจำกัดจำนวนคน การรวมกลุ่มกิจกรรม และ การดื่มสุราในร้านอาหาร
  2. การปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรค จากเดิมที่มีแนวโน้มว่าจะมีการพิจารณาว่าจะเปิดสถานบันเทิง เมื่อมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากจนกลายเป็นคัตเตอร์ร้านอาหารกึ่งผับ และไม่ได้อยู่ภายใต้การจัดการตามมาตรการป้องกันที่กำหนดก็จะมีการพิจารณาในวันที่ 7 ม.ค.นี้เช่นกัน
  3. มาตรการเพิ่มเติมจัดการกับเชื้อโอไมครอนที่มีการระบาดอย่างรวดเร็ว

 

 

เมื่อถามว่า โอไมครอน ไม่รุนแรงเป็นไปได้หรือไม่ถ้าปล่อยให้ติดเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันตัวเอง พญ.สุมณี ชี้แจงว่า การฉีดวัคซีนจะป้องกันได้ดีกว่าการปล่อยให้ติดเชื้อตามธรรมชาติ เนื่องจาก "โอไมครอน" แพร่ระบาดเร็ว อาจทำให้ระบบสาธารณสุขรองรับไม่ทัน และยังมีผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนจำนวนมากทำให้มีความเสี่ยงกว่า นอกจากนี้ยังต้องดูเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวด้วยว่าจะเป็นอันตรายต่อระบบการหายใจหรือไม่