โควิด-19

"โอไมครอน" ผู้เล่นหลัก พาไทยเข้าสู่ ระลอก 5 เต็มตัว

"โอไมครอน" ผู้เล่นหลัก พาไทยเข้าสู่ ระลอก 5 เต็มตัว

06 ม.ค. 2565

หมอนิธิพัฒน์ ชี้ชัด การระบาดของโควิด เข้าระลอก 5 เต็มตัว แต่ยังไม่สูงสุด มี "โอไมครอน" เป็นผู้เล่นหลัก พบ 5-10% ติดเชื้อซ้ำ คนละสายพันธ์ แนะ 5 มาตรการเข้มงวดก่อนกระทบผู้ป่วยอื่นนอกเหนือจาก "โควิด-19"

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความ ผ่านเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล เปิดเผยถึง อาการการแพร่ระบาดของ "โควิด-19" ในประเทศไทย เข้าสู่ระลอก 5 เต็มตัวแล้ว โดยมี "โอไมครอน" เป็นตัวหลัก แม้การเจ็บป่วยจะไม่รุนแรงแต่ก็อาจจะทำให้สูญเสียกำลังคนในการทำงานโดยเฉพาะในบุคลากรทางการแพทย์ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการรักษาผู้ป่วยที่ไม่ใช่ "โควิด-19" พร้อมแนะ 5 มาตรการเข้มงวด สู้ "โควิด-19" โดยมีข้อความดังนี้

\"โอไมครอน\" ผู้เล่นหลัก พาไทยเข้าสู่ ระลอก 5 เต็มตัว

เข้าฤดูหนาวเต็มตัวมาเดือนกว่าแล้ว ยังไม่เคยสัมผัสคำว่าหนาวจริงจังในกทม.เสียที ได้แต่ไปอาศัยความหนาวบนภูสูงแถบชายแดนลาวดังรูปเมื่อช่วงต้นเดือนก่อน มาวันนี้อุณหภูมิ 2 1 องศา ความหนาวภายนอกยังไม่มาแต่ความหนาวในเริ่มเต็มที่แล้ว การระบาดของ "โควิด-19" ในประเทศไทยเข้าสู่ "ระลอกห้า” เต็มตัวแต่ยังไม่ถึงจุดสูงสุด โดยมี "โอไมครอน" เป็นผู้เล่นหลักแบบไร้ข้อกังขา

เมื่อวานยอดตรวจพบ "โอไมครอน" รายใหม่แถวนี้ พุ่งขึ้นอีกจาก 3/13 สู่ 9/16 เป็น 27/39 เป็น 27/39 ตามที่เล่าไป ล่าสุดเป็น 37/39 แล้ว โดยเป็นบุคลากรประมาณหนึ่งในสาม มีราว 5-10% ที่เป็นการติดเชื้อซ้ำคนละสายพันธุ์ (reinfection) ยังดีว่าทุกคนไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ส่วนสถิติประเทศรวม ATK ยังอยู่ที่ระดับเจ็ดพันเป็นวันที่สอง (คาดว่ายังรอรายงานตามมาอยู่อีกเยอะ) 

แม้โรคจะไม่รุนแรง แต่ถ้ามีคนป่วยจำนวนมากเกิน จะทำให้สูญเสียกำลังคนในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรด่านหน้าอื่น อีกทั้งจำนวนผู้ป่วยรุนแรงที่อาจจะเริ่มพบมากขึ้นจะล้นเกินศักยภาพที่เตรียมไว้ ทำให้กระทบมาตรฐานการดูแลรักษา และกระทบการดูแลรักษาผู้ป่วยอื่นที่ไม่ใช่ "โควิด-19" เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายเช่นก่อน ฝ่ายนโยบายคงต้องเร่งตัดสินใจยุติมาตรการผ่อนคลายเดิม และเริ่มมาตรการเข้มงวดตามลำดับขึ้นใหม่ให้เร็วที่สุด ดังนี้

  1. ประกาศพื้นที่ควบคุมโดยต้องให้มีรายละเอียดในระดับพื้นที่ย่อยลงไปกว่าเดิม ไม่สามารถเหมายกเข่งทั้งจังหวัดได้เหมือนเก่า
  2.  เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์และให้ความร่วมมือในมาตรการที่จะดำเนินการ
  3.  ประกาศนโยบายหลักในการดูแลรักษาผู้ป่วยระลอกนี้ โดยใช้สถานที่พักของตัวเองหรือที่พักในชุมชน (home and community isolation) และโรงพยาบาลสนาม (field hospital)  เนื่องจากผู้ป่วยจากเชื้อ "โอไมครอน" กว่า 80% จะมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ โดยผู้ป่วยทุกคนที่รักษาตัวนอกโรงพยาบาลต้องมีหน่วยงานทางการแพทย์ดูแล
  4. ปรับเกณฑ์การวินิจฉัยโรค ให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรค "โควิด-19" ได้ ถ้ามีลักษณะทางคลินิกเข้าได้และผลตรวจ ATK โดยชุดตรวจที่ได้มาตรฐานให้ผลเป็นบวก และสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาในข้อ 3. ได้เลย โดยภาครัฐให้การรับรองและสนับสนุนค่าใช้จ่าย
  5. การตรวจ RT-PCR ให้ใช้สำหรับการตรวจผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลัก หรือในกรณีอื่นตามดุลพินิจของแพทย์