โควิด-19

เปิดจุดกำเนิด "โอไมครอน" แพร่เร็ว ผลวิจัยพบ อาจข้ามสายสกุล จากสัตว์สู่คน

เปิดจุดกำเนิด "โอไมครอน" แพร่เร็ว ผลวิจัยพบ อาจข้ามสายสกุล จากสัตว์สู่คน

09 ม.ค. 2565

ตัดไฟแต่ต้นลม ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เผยผลวิจัย เปิดจุดกำเนิด "โอไมครอน" คุณสมบัติแพร่เร็ว พบ อาจข้ามสายสกุล จากสัตว์สู่คน

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยข้อมูล ต้นกำเนิดของโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยระบุว่า การที่จะหาทางป้องกันมิให้ไวรัสโคโรนา 2019 เกิดมีการกลายพันธุ์จนระบาดติดต่อกันทั่วโลกซ้ำแล้วซ้ำอีก อย่างในกรณีของ อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา และ "โอไมครอน" การระดมฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นทั่วโลก เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เราจำเป็นต้องสืบค้นให้ได้ว่า "โอไมครอน" อันเป็นสาเหตุแห่งปัญหา (root cause) เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เพื่อหาทางตัดไฟแต่ต้นลมอันเป็นการกำจัดที่ "เหตุ" เพื่อมิให้ไวรัสกลายพันธุ์ลักษณะเดียวกับ "โอไมครอน" เกิดขึ้นมาอีก


"โอไมครอน" ปรากฏตัวในประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 โดยมีกลายกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสดั้งเดิม "อู่ฮั่น" กว่า 70 ตำแหน่ง ในขณะที่ "เดลตา" กลายพันธุ์ต่างจาก "อู่ฮั่น" ไปเพียง 60 ตำแหน่ง โดยส่วนของหนาม (spike) ของ "โอไมครอน" กลายพันธุ์ถึง 35 ตำแหน่ง ทำให้สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกัน ที่เกิดจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ และจากวัคซีน จนก่อให้เกิดการระบาดไปทั่วโลกในขณะนี้

นักวิจัยบางกลุ่มเสนอทฤษฎีว่า "โอไมครอน" อาจหลบไปกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วในกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง แต่ทฤษฎีนี้ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับ เพราะเป็นเรื่องที่น่าแปลกที่ไม่เคยมีใครเคยตรวจพบและถอดรหัสพันธุกรรม "โอไมครอน" ได้มาก่อน เร็ว ๆ นี้ ทีมนักวิจัยจีนได้ใช้ข้อมูลจากรหัสพันธุ์กรรมมาวิเคราะห์ ทบทวนได้ข้อสรุปว่า "โอไมครอน" อาจเกิดจากการ "แตกเหล่า" ออกจาก "ไวรัสโคโรนา 2019" สายพันธุ์ B.1.1 ที่ระบาดในคนราวกลางปี 2563 โดยพบว่า "โอไมครอน" มีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับ B.1.1 มากกว่า และแตกต่างไปจาก อัลฟา เบตา แกมมา เดลต้า มิว และ แลมป์ดา 

 

อัตราการกลายพันธุ์ในส่วนโปรตีนหนามของไวรัสโคโรนา 2019 ที่ระบาดในมนุษย์ จะเกิดขึ้นประมาณ 0.45 ตำแหน่งต่อเดือน ในขณะที่ "โอไมครอน" มีการกลายพันธุ์ไปถึง 27 ตำแหน่งในช่วง 18 เดือน หรือ ประมาณ 1.5 ตำแหน่งต่อเดือน ซึ่งเร็วกว่าอัตราเฉลี่ยของไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์อื่นที่กลายพันธุ์อยู่ในมนุษย์ถึง 3.3 เท่า 

 

 

เปิดจุดกำเนิด \"โอไมครอน\" แพร่เร็ว ผลวิจัยพบ อาจข้ามสายสกุล จากสัตว์สู่คน

ดังนั้น จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ไวรัสโคโรนา 2019 จะมีการกลายพันธุ์รวดเร็วขนาดนี้ หากยังติดต่อแพร่จำนวนในมนุษย์ จึงมีการตั้งสมมุติฐานว่า "โอไมครอน" อาจกระโดดหลบเข้าสู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หนู เพราะ "โอไมครอน" สามารถจับกับตำแหน่งจำเพาะบนผิวเซลล์ของหนู (mouse ACE2 receptors) ได้ดี และการเข้าไปเพิ่มจำนวนในหนู อาจทำให้ "โอไมครอน" เกิดการกลายพันธุ์สะสมได้รวดเร็วกว่าในเซลล์มนุษย์ จากนั้น กระโดดกลับเข้าสู่มนุษย์อีกในเดือนพฤศจิกายน 2564 แสดงให้เห็นว่า การระบาดของ "โอไมครอน" มีการวิวัฒนาการแบบข้ามสายสกุล (interspecies)  

 

นอกจากนี้ ยังทำให้ "โอไมครอน" มีพฤติกรรมที่ติดเชื้อเพิ่มจำนวนในเชลล์ของระบบทางเดินหายใจส่วนบนของมนุษย์ได้ดี โดยไม่เข้าไปติดเชื้อและทำลายเชลล์ปอด จนเกิดการอักเสบ อันเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต เหมือนที่เกิดขึ้นกับสายพันธุ์ เดลตา อัลฟา เบตา แกมมา ดังนั้น ในอนาคต หากมีนักวิจัยอีกหลายกลุ่มสามารถยืนยันสมมุติฐานของทีมวิจัยจีน
กลุ่มนี้ว่า ถูกต้อง การควบคุมโรคโควิด-19 อาจต้องเปลี่ยนไป กล่าวคือ นอกเหนือไปจากการเร่งฉีดวัคซีนในมนุษย์แล้ว ยังต้องติดตามการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ในหนู หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการติดเชื้อข้ามสายสกุล (interspecies) เพิ่มขึ้นอีกด้วย