"10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด" ชลบุรีรั้งอันดับ 1 ต่อ จับตาอีสานเข้าวิน 3 จังหวัด
"โควิดวันนี้" อัปเดตสถานการณ์การแพร่ระบาด "10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด" ชลบุรีรั้งอันดับ 1 ต่อ จับตาอีสานเข้าวิน 3 จังหวัด
อัปเดต "โควิดวันนี้" ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อ "โควิด-19" วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม 2565 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 8,511 ราย ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบการติดเชื้อเข้าข่าย ATK รวม 1,265 ราย สะสม 389,361 ราย ตัวเลขผู้เสียชีวิตรายวัน เสียชีวิต 12 ราย เสียชีวิตสะสม 21,731 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,240,687 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) ผู้ติดเชื้อ "โควิด-19" ที่เข้ารับการรักษาหายป่วยกลับบ้าน 2,605 ราย หายป่วยสะสม 2,166,441 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) และผู้ป่วยกำลังรักษา 53,858 ราย
"10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด" ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศรายใหม่สูงสุด พบว่า อันดับ 1 ยังเป็นจังหวัดชลบุรี ติดเชื้อยืนอันดับ 1 ติดต่อกัน 3 วันแล้ว หลังตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร ครองอันดับ 1 มาโดยตลอด ส่วนอันดับ 2 สมุทรปราการ อันดับ 3 กรุงเทพมหานคร อันดับ 4 นนทบุรี อันดับ 5 ภูเก็ต อันดับ 6 อุบลราชธานี อันดับ 7 สุรินทร์ อันดับ 8 ขอนแก่น อันดับ 9 เชียงใหม่ และ อันดับ 10 ระยอง
ส่วนรายละเอียดผู้เสียชีวิตในประเทศไทย จำนวน 12 ราย พบเป็นชาย 8 ราย หญิง 4 ราย ซึ่งอัตราการเสียชีวิตส่วนใหญ่ 83% ยังคงเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก พบยอดผู้ติดเชื้อรวม 306,024,532 ราย อาการรุนแรง 94,057 ราย รักษาหายแล้ว 258,959,674 ราย เสียชีวิต 5,502,332 ราย
อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด
- สหรัฐอเมริกา จำนวน 60,954,028 ราย
- อินเดีย จำนวน 35,516,186 ราย
- บราซิล จำนวน 22,499,525 ราย
- สหราชอาณาจักร จำนวน 14,333,794 ราย
- ฝรั่งเศส จำนวน 11,815,121 ราย
ส่วนประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 25 จำนวน 2,269,550 ราย
ขณะที่ อัปเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เตือนว่า อย่าประมาทเชื้อกลายพันธุ์ "โอไมครอน" เพราะแม้เชื้อจะไม่รุนแรงในเด็กและคนชรา แต่ใช่ว่าจะไม่สร้างอันตรายต่อผู้ติดเชื้อ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกออกมาเตือนให้ประชาชนทั่วโลกอย่าวางใจ เพราะแม้ไวรัสโควิดกลายพันธุ "โอไมครอน" ดูจะมีความรุนแรงน้อยกว่าไวรัสกลายพันธุ์ "เดลตา" แต่ไม่ควรมองว่าเชื้อดังกล่าวจะอาการไม่รุนแรง โดยระบุผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า อัตราความเสี่ยงที่ผู้ติดเชื้อ "โอไมครอน" ที่จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ต่ำกว่าเชื้อกลายพันธุ์ตัวอื่นที่เคยมีมา และยังพบว่าอาการป่วยของกลุ่มวัยรุ่น และผู้สูงอายุดู จะมีความรุนแรงน้อยลงด้วย แต่ยังคงต้องมีการศึกษาลงลึกในรายละเอียดมากกว่านี้เนื่องจากข้อมูลที่มีส่วนใหญ่เป็นการเก็บข้อมูลจากกลุ่มคนอายุน้อยเสียเป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตาม แม้ข้อมูลที่พบจะชี้ว่า "โอไมครอน" มีความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา โดยเฉพาะสำหรับคนที่รับวัคซีนแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เชื้อตัวนี้จะไม่ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรง เพราะ "โอไมครอน" ยังคงทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก และยังคร่าชีวิตคนไปแล้วจำนวนไม่น้อย
ที่มา : ศบค.