ฟังหูไว้หู "เดลตาครอน" เร็วไปที่จะสรุปเป็นโควิดผสมสายพันธุ์ รอ WHO ฟันธง
"หมอเฉลิมชัย" แนะฟังหูไว้หู ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ "เดลตาครอน" เป็นโควิดผสมสายพันธุ์ "โอไมครอน" กับ เดลตา รอ WHO แถลงฟันธง
หลังจากมีการพบโควิดกลายพันธุ์ตัวใหม่ "เดลตาครอน" ซึ่งเป็นการผสมกันระหว่างสายพันธุ์ "โอไมครอน" กับสายพันธุ์ "เดลตา" ที่ประเทศไซปรัส โดยพบผู้ติดเชื้อแล้ว 25 ราย ล่าสุด ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความ ถึงการค้นพบ "เดลตาครอน" ว่า ขณะนี้มีรายงานข่าวเบื้องต้น จากสำนักข่าวต่างประเทศบางแห่ง ว่าพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คือเป็นสายพันธุ์เดลตา แต่มีสารพันธุกรรมของไวรัสสายพันธุ์ "โอไมครอน" เข้ามาปน ทำให้ตั้งชื่อใหม่เป็นไวรัส "Deltacron" : Delta+Omicron ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการยืนยันจากหน่วยงานระหว่างประเทศ หรืออย่างน้อยรอให้องค์การอนามัยโลกออกมารับรองเสียก่อน
แหล่งข่าวดังกล่าว ได้อ้างถึง Professor L.Kostrikis ศาสตราจารย์ทางด้านชีววิทยาของมหาวิทยาลัยไซปรัส ซึ่งเป็นประเทศขนาดเล็กในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนใกล้กับตุรกีว่า เป็นผู้ค้นพบไวรัสและตั้งชื่อใหม่ว่า "Deltacron" โดยอ้างว่าพบแล้วถึง 25 ราย แต่ก็บอกด้วยว่ายังเร็วเกินไปที่จะบอกถึงความสามารถด้านต่าง ๆ ทั้ง 3 มิติของไวรัสใหม่นี้ รวมทั้งได้ส่งข้อมูลไปที่ GSAID ซึ่งเป็นแหล่งรวมรหัสสารพันธุกรรมของไวรัสระดับโลกแล้ว
ในขณะเดียวกัน Professor T.Peacock นักไวรัสวิทยาจากคอลเลจลอนดอน ( U. College London ) ได้ให้ความเห็นว่า จากลักษณะของสารพันธุกรรมดังกล่าว น่าจะเป็นการปนเปื้อนระหว่างการถอดรหัสไวรัสในห้องปฏิบัติการ และไม่ค่อยจะเหมือนไวรัสสายพันธุ์ใหม่มากนัก โดยมีลักษณะเป็นไวรัสเดลตาเดิมเป็นหลัก แล้วมีสารพันธุกรรมบางส่วนของ "โอไมครอน" เข้าไปปน การปนเปื้อนในห้องปฏิบัติดังกล่าว ถึงแม้จะไม่ได้พบบ่อยนัก แต่ก็สามารถพบได้
Professor Peacock กล่าวว่า การแข่งกันรายงานเพื่อเป็นเจ้าแรกของสำนักข่าวต่าง ๆ อาจจะทำให้สาธารณะเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ ผู้เขียนคิดว่า เรื่องนี้ต้องฟังหูไว้หูในเบื้องต้น เพราะการแถลงจากนักวิทยาศาสตร์เพียงคนเดียว และยังไม่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานในระดับนานาชาติที่เชื่อถือได้ อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด แต่ถ้ายืนยันแล้วว่าเป็นจริงในภายหลัง ก็จะต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว จะมีความสามารถในการแพร่ระบาด มีความรุนแรงในการเกิดโรค และการดื้อต่อวัคซีนมากน้อยเพียงใด แต่ในขณะนี้ควรรอฟังความชัดเจน และการยืนยันจากหน่วยงานในระดับนานาชาติอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่งเสียก่อน