โควิด-19

เช็คอาการโควิดในเด็ก-ผู้ใหญ่ แตกต่างกันอย่างไร เตือน อย่าประมาท "โอไมครอน"

เช็คอาการโควิดในเด็ก-ผู้ใหญ่ แตกต่างกันอย่างไร เตือน อย่าประมาท "โอไมครอน"

12 ก.พ. 2565

"หมอธีระวัฒน์" แนะ เช็คอาการโควิดในเด็ก-ผู้ใหญ่ แตกต่างกันอย่างไร 3 ข้อควรรู้ อาการที่ต้องจับตา พร้อมเตือน อย่าประมาท "โอไมครอน" ดูอังกฤษเป็นตัวอย่าง

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ "หมอดื้อ" ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับ "คมชัดลึกออนไลน์" ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 "โอไมครอน" Omicron ในเด็ก ซึ่งคาดว่ามีอัตราการเข้ารักษาเพิ่มขึ้น ว่า จากข้อมูลดิบของประเทศไทยยังไม่ทราบ เพราะข้อมูลการตรวจผู้ติดเชื้อ ดูน้อยเกินกว่าที่เห็นในแต่ละวัน เพราะฉะนั้นหากจะแยกว่า เด็กติดเท่าไร จึงยังไม่ทราบข้อมูลจริง อีกประการหนึ่ง คือ เด็กหรือผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อ สิ่งที่ต้องการรู้คือ เข้าโรงพยาบาลกี่ราย และอาการประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เพราะตราบใดที่เข้าโรงพยาบาล นั่นหมายความว่า มีอาการ และ อาการหนักแค่ไหน ต้องแยกด้วยว่า คำว่าหนัก คือ การที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งต่อไป หากพบว่ามีการติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการ หรืออาการเล็กน้อย แล้วจะรับเข้าโรงพยาบาล จะต้องเป็นบุคลลที่อยู่ในกลุ่ม ภูมิคุ้มกันบกพร่อง กลุ่มเปราะบาง หรือ มีโรคประจำตัว 

ทั้งนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับ เด็ก หรือผู้ใหญ่ หากมีการติดเชื้อโควิด-19 หรือ "โอไมครอน" ถ้าหากไม่ได้อยู่ในกลุ่มภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือ กลุ่มเสี่ยง แล้วจะต้องนอนโรงพยาบาล จะต้องมีอาการที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ โดยแบ่งเป็น 3 ประการ คือ

 

 

  1. อาการทางระบบทางเดินหายใจ
  2. อาการนอกระบบทางเดินหายใจ เช่น ปวดศรีษะ ตัวร้อน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ท้องเสีย และมีอาการทางหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ หรือ ความดันโลหิตตก 
  3. มีอาการทั้งสองอย่างปนกัน 

 

ส่วนอาการโควิดในเด็กนั้น "หมอธีระวัฒน์" บอกว่า จะมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่ โดยสมัยก่อนเด็กจะมีภาวะ "โรคคาวาซากิ" เป็นโรคที่มีการอักเสบทั้งร่างกาย หัวใจ และเส้นเลือดหัวใจ ทำให้มีลักษณะ เป็นผื่น ลิ้นแดง เป็นตุ่ม
ลิ้นสาก และ ช็อกได้ หรือ มีภาวะเส้นเลือดหัวใจอักเสบอุดตัน ซึ่งหากในผู้ใหญ่ จะไม่ออกอาการที่มีผื่นให้เห็น แต่อวัยวะภายในถูกกระทบคล้าย ๆ กัน

 

 

อย่างไรก็ตาม หากดูจากข้อมูลที่ได้รับในแต่ละวันขณะนี้ เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมาก เช่น โรงพยาบาลใน จ.ชลบุรี 3 แห่ง พบว่า มีคนไข้ติดเชื้อ เข้าโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก แต่ตัวเลขสถิติที่รายงานรายวัน ดูสวนทางกันมาก ซึ่งการรายงานตัวเลขแบบนี้ ถือว่า เป็นการปกปิดข้อมูล เนื่องจาก การบอกว่า ติดเชื้อน้อย คนทั่วไปจะมองว่า เป็นข่าวดี และ "โอไมครอน" ดูไม่รุนแรง แต่ถ้าดูข้อมูล ณ ปัจจุบัน พบว่า อัตราการเสียชีวิตจาก "โอไมครอน" ของฝรั่งเศส และอังกฤษ เพิ่มสูงขึ้นมาก
 

หมอธีระวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากจะดูเรื่องของเด็ก ในอังกฤษเองก็ชัดเจนว่า เด็กติดง่ายเท่ากับผู้ใหญ่ หากจะบอกว่าในเด็ก มีอาการน้อยกว่าผู้ใหญ่ จริง ๆ แล้วต้องระวัง เพราะว่าในอังกฤษเองรายงานว่า อาการเท่ากับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในประเทศไทย จะเทียบกับต่างประเทศไม่ได้ โดยสิ่งที่เราเหมือนกับต่างประเทศ คือ เด็กอายุ 1-5 ปี ยังไม่ได้รับวัคซีน แต่ที่แตกต่างคือ เด็กไทย มีอะไรที่เปราะบางมากกว่าหรือไม่ เช่น ภาวะโภชนาการ  หรือ หรือโรคประจำตัว ซึ่งเวลาดูความรุนแรงของโรค อย่าดูแค่ผลวิจัย หรือ ดูแค่สถิติ ต้องมองปัจจัยของประเทศเป็นหลัก เช่น ความแตกต่างการฉีดวัคซีน และยี่ห้อของวัคซีน ที่ใช้ในประเทศไทย 

 

ทั้งนี้ หากพูดถึงประเทศอังกฤษ ถือได้ว่า ฉีดวัคซีนค่อนข้างครอบคลุมทั้งประเทศแล้ว รวมทั้งชนิดของวัคซีน เป็นแอสตราเซนเนากา ไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา เป็นหลัก ตัวเลขผู้ติดเชื้อ และ เสียชีวิต จาก "โอไมครอน" ยังพุ่งทะลุ  ส่วนของประเทศไทย วัคซีนหลัก เป็นซิโนแวค ซิโนฟาร์ม ตามมาด้วยแอสตราเซนเนกา และยี่ห้ออื่นพึ่งตามมาในภายหลัง เพราะฉะนั้น เรายังพูดไม่ได้เต็มปากว่า ฉีดวัคซีนแล้ว จะลดความรุนแรงได้จริงหรือไม่ ประการสำคัญวัคซีนที่ดีที่สุด mRNA 2 เข็ม ยังกัน "โอไมครอน" ได้เพียงแค่ 30% เท่านั้น