"โอไมครอน" ทรงตัว 9 วัน ไม่เพิ่มรวดเร็วเท่าประเทศอื่น ปัจจัยหลักคืออะไร
หมอเฉลิมชัย ชี้ "โอไมครอน" ในไทยทรงตัว 9 วัน ต่อเนื่องไม่เพิ่มรวดเร็วเท่าประเทศอื่น เชื่อ วินัยการใส่หน้ากาก มาตรการสาธารณสุข วัคซีนเชื้อตาย เป็นปัจจัยหนุน
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chalermchai Boonyaleepun ถึงสถานการณ์ "โอไมครอน" ในประเทศไทยที่ทรงตัวต่อเนื่องอย่างน่าสังเกตว่า
น่าสนใจและสมควรติดตาม "โควิด-19" ระลอกที่ 4 ทรงตัวต่อเนื่องกัน 9 วันแล้ว และผลของการฉลองปีใหม่ได้ส่งผลครบถ้วนสมบูรณ์แล้วเช่นกัน
สถานการณ์ "โควิด-19" ระลอกที่ 4 ของไทย ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อ 1 มกราคม 2565 ด้วยไวรัสสายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" ซึ่งมีความสามารถในการแพร่ระบาดมากกว่าไวรัสเดลตา 2-5 เท่า ทำให้มีการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้ออย่างมากในสัปดาห์ที่หนึ่งของเดือนมกราคม 2565
- โดยผู้ติดเชื้อ(PCR) 1 มกราคม 2565 จำนวน 3,011 ราย ขึ้นสู่จุดสูงสุดเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2565 ที่จำนวน 8,511 ราย
- ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย(ATK) 1 มกราคม 2565 จำนวน 434 ราย เพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 จำนวน 2,760 ราย
- และผู้ติดเชื้อรวม (PCR+ATK) 1 มกราคม 2565 รวม 3,445 ราย ขึ้นสู่จุดสูงสุดวันที่ 14 มกราคม 2565 จำนวน 10,918 ราย
โดยจำนวนผู้ติดเชื้อทั้ง 3 ลักษณะ คือ ตรวจด้วย PCR ตรวจด้วย ATK และผู้ติดเชื้อรวม อยู่ในลักษณะ ทรงตัวตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2565 เป็นเวลา 9 วันต่อเนื่องกัน
ซึ่งส่งผลต่อผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตในทำนองเดียวกัน โดยที่ผู้ติดเชื้อ ต้องเข้ารักษาตัวในระบบยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากผลของผู้ติดเชื้อในสัปดาห์ก่อน เพราะต้องอยู่ดูแลในระบบ 10-14 วัน จะมีผลชะลอตัวลงหลังจากผู้ติดเชื้อทรงตัวในเวลา 10-14 วันข้างหน้า
จึงน่าสนใจและชวนติดตามว่า เหตุใดจำนวนผู้ติดเชื้อจากไวรัส "โอไมครอน" ของไทย จึงมีลักษณะการเพิ่มที่ไม่รวดเร็วและกว้างขวางนัก เมื่อเทียบกับที่ปรากฏขึ้นในต่างประเทศ เพราะในประเทศที่มีสัดส่วนการฉีดวัคซีนเท่ากับประเทศไทยหรือดีกว่าประเทศไทย ก็ติดเชื้อไวรัส "โอไมครอน" เป็นจำนวนมาก เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
จึงน่าจะมีปัจจัยอื่นเข้ามาเสริม เช่น การมีวินัยใส่หน้ากากอนามัยกันเป็นจำนวนมาก การมีมาตรการที่เหมาะสมทางสาธารณสุขของรัฐ ตลอดจนมีการฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็มแรกเป็นจำนวนมาก